พระพุทธรูปทรงเครื่องหุ้มทองคำในวัดพระแก้ว

11 / 04 / 2562 15:00

ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์ปางห้ามสมุทรหุ้มทองคำทรงเครื่องต้นด้วยเนาวรัตน์ขนาดใหญ่สององค์  เรียกพระนามของพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ โดยทรงเห็นว่า ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงหล่อพระศรีสรรเพชญ์ และพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆ มา ทรงหล่อพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้ทรงเป็นบรมกษัตริย์ขึ้นไว้สักการบูชา จึงทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปใหญ่ หุ้มด้วยทองคำ เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรึกษากับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ยังทรงผนวชอยู่ จึงมีพระราชดำริว่าพระพุทธรูปควรมีความสูงในราวหกศอก พระองค์จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง อย่างจักรพรรดิราช 2 องค์ จารึกพระนามองค์หนึ่งว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช จักรพรรดินารถบพิตร อีกพระองค์หนึ่งจารึกพระนามว่า พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนารถธรรมิกราชบพิตร
ในรัชกาลที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเดิมเรียกว่า แผ่นดินต้น และแผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงหวั่นวิตกว่าประชาชนจะเรียกแผ่นดินของพระองค์ว่า "แผ่นดินปลาย" ซึ่งหมายถึงสิ้นสุดสมัยรัตนโกสินทร์ อันจะเป็นอัปมงคล จึงมีพระบรมราชโองการให้ตั้งนามแผ่นดินตามพระพุทธปฏิมากรทั้ง 2 พระองค์ แผ่นดินต้นให้ใช้ว่าแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แผ่นดินกลางให้ใช้ว่าแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนสร้อยพระนามเป็น “นภาลัย”

หนังสือพระพุทธรูปสำคัญ กรมศิลปากร ให้ข้อมูลเรื่องพระพุทธยอดฟ้า-พระพุทธเลิศหล้าไว้ว่า เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช วัสดุสำริดหุ้มด้วยทองคำ เครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ สูง 6 ศอก ส่วนชื่อปางพระที่ยกมือทั้งสองข้าง บ้างเรียกปางห้ามสมุทร และบ้างเรียก ปางห้ามญาติ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีเถร) เขียนไว้ในหนังสือพระพุทธรูปปางต่างๆว่า ชื่อปาง มีที่มาจากพระพุทธประวัติ ตอนพระญาติฝ่ายพุทธบิดา และพระญาติฝ่ายพุทธมารดาแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อทำนา จนตั้งท่าจะทำสงครามกัน พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามจนเลิกแล้วต่อกัน

พระธรรมโกศาจารย์ เสนอให้เรียกชื่อพระปางนี้ว่า ปางพระญาติแย่งน้ำในสมุทร แล้วยังอธิบายว่า การที่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เลือกสร้างพระปางนี้ น่าจะมีพระประสงค์จะทรงฝากคติธรรม สำหรับเตือนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์วัดพระแก้วว่า "อย่าทรงวิวาทแย่งสมบัติกันเลย" จึงเห็นควรจะเรียกว่า ปางห้ามญาติ น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/