พระราชมรดกสมเด็จพระพันปีหลวง

11 / 04 / 2562 15:01

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชสมบัติเครื่องเพชร เครื่องทองมากมายทุกชิ้นล้วนสวยงามล้ำค่า เวลาจะทรงใช้ นางข้าหลวงต้องเชิญมาเป็นถาดๆให้ทรงเลือก ในปลายพระชนม์ชีพพระองค์ไม่ได้สนพระทัยกับสมบัติเหล่านี้ แต่จะทรงชิ้นเล็กๆเป็น พวกเข็มกลัดอักษรพระนามเท่านั้น จนเมื่อเสด็จสวรรคตเครื่องอาภรณ์ล้ำค่าเหล่านั้นมิได้ แบ่งให้กับพระทายาทผู้ใด รัชกาลที่ ๖ ทรงเก็บไว้เป็นกองกลางผู้ใดจะใช้ก็พระราชทานยืมชั่วครั้งชั่วคราว พระราชสมบัติทั้งหมดจึงตกทอดต่อๆมาจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรรัชกาลที่ 9  ได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานในการแบ่งพระราชมรดก เครื่องอาภรณ์เพชร ทอง ล้ำค่าและที่ดินให้กับ พระทายาททั้งหลาย

พระทายาทในสมเด็จพระพันปีหลวงนั้นมี สายสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ / สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีฯ / พระนางเธอลักษมีลาวัลย์ / พระนางเจ้าสุวัทนาฯ / พระสุจริตสุดา สายพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  สายพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช / หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช และสายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗

พระราชมรดกล้ำค่ามหาศาลนี้ ใช้ระยะเวลานานกว่า 4 รัชกาล 4 แผ่นดินกว่าจะถูกแบ่งไปยังพระทายาท ตามสายพระโลหิตด้วยความเป็นธรรม ทั้งนี้ก็ด้วยพระบารมีปกเกล้าและพระมหากรุณาธิคุณ ของในหลวงรัชกาลที่ 9  พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพราะทรงถือว่าเป็นพระราชอนุสรณ์ถึง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระราชทานพระราชมรดกอันล้ำค่านี้ไว้ในช่วงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์

ภาพบรรยากาศในการแบ่งพระราชมรดกในวันนั้น ม.ร.ว.ทิพยลาวัณ วรวรรณ ที่ได้ติดตามเสด็จพระนางเธอลักษมีลาวัณ ไปจับสลากแบ่งเครื่องเพชร บอกเล่าบรรยากาศการแบ่งพระราชมรดกครั้งนั้นไว้ว่า...เราเข้าไปที่วังหลวง เขาจะแบ่งสมบัติไว้เป็นโต๊ะ ๆ ใหญ่ประมาณโต๊ะกินข้าว แล้วปูผ้าแดง มี 5 โต๊ะ สำหรับเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระสุจริตสุดา และเสด็จป้า (พระนางเธอลักษมีลาวัณ) บนโต๊ะมีของเยอะแยะเลย ทั้งพวกทอง เพชร สังวาล กระโถนทอง พานทอง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมา ก็มีการจับสลากว่าใครจะได้โต๊ะไหน 

เจ้าฟ้าหญิงกับพระชนนีทรงมีสิทธิ์ในฐานะพระทายาท สายที่ 1 ทรงได้รับพระราชทานที่ดิน
บางส่วน และเครื่องประดับชุดใหญ่ ได้แก่ชุดเพชร มีสร้อยพระศอ  ศิราภรณ์เพชรที่เรียกกันว่า "Fringe Tiara"ฝีมือช่างราชสำนักฝรั่ง พระปั้นเหน่ง หรือหัวเข็มขัดฝังเพชรลูกขนาดใหญ่นับ 10 เม็ด พร้อมรัดพระองค์ทองคำฝังเพชรเป็นระยะ ฯ ชุดมรกต สร้อยพระกรแบบอาร์ตเดโก และเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ อีกหลายองค์ 

เครื่องประดับอันเป็นพระราชมรดกทั้งหมดนี้ พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงถือเป็นของสูงของพระบรม
ราชจักรีเพราะพระองค์มีพระกำเนิดเป็นสามัญชนมาแต่เดิม จึงไม่นำมาทรงแต่ทรงจัดให้เจ้าฟ้าหญิงในฐานะพระราชนัดดาของสมเด็จพระพันปีฯ ทรงประดับในโอกาสอันสมควร แต่เจ้าฟ้าหญิงไม่โปรดจะทรงเครื่องประดับชิ้นใหญ่ ๆ ที่หรูหราอลังการเกินไป ส่วนมากทรงแค่สร้อยพระศอ มุกเส้นเล็ก ๆ กับเข็มกลัดเท่านั้น
การแบ่งพระราชมรดกในครั้งนี้ กระทำขึ้นเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ณ พระที่นั่ง
จักรพรรดิพิมาน และยังมีผู้ใหญ่ที่ทันรู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่หลายคนด้วยกัน ตอนท้าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 มีพระบรมราชโองการเตือนพระสติบรรดาพระทายาททั้งหลายที่เพิ่งได้รับสมบัติมูลค่ามหาศาลไว้ในความครอบครองไว้ว่า “....ทรัพย์สินที่ตกมาเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์นี้ เดิมเป็นพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่พระราชทรัพย์นี้อยู่มาได้ โดยมิขาดตกบกพร่อง ก็ด้วยพระมหากรุณาเที่ยงธรรมของพระบาทสมเด็จพะเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ที่ได้เสวยราชย์สืบต่อกันมาจึงทรงขอเตือนให้ท่านที่ได้รับพระราชทานไป ได้ทรงระลึกว่าเป็นของมีค่าอันสูง เป็นเครื่องเตือนพระหฤทัยผู้ได้รับพระราชทาน ให้ทรงปฏิบัติพระองค์ให้สมพระเกียรติคุณ"

(จากบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว. ทิพยลาวัณ วรวรรณ พระนัดดาของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ที่ได้ติดตามเสด็จพระนางไปจับสลากแบ่งเครื่องเพชร ในนิตยสารดิฉัน ฉ.๔๐๗ ๑๔ ก.พ. ๒๕๓๗)


เช็คราคาทองคำวันนี้และย้อนหลังได้ที่ https://www.aagold-th.com/gold-rate/