สร้างพระทองคำ ถวาย ร.10 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

06 / 06 / 2562 21:44

สร้างพระทองคำ ถวาย ร.10 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปทองคำ เมื่อเวลา 15.30 น. ของวันที่ 20 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต ให้จัดสร้างพระพุทธรูปทองคำปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นปางประจำวันจันทร์ อันเป็นวันพระราชสมภพ โดยมีความสูงจากพระบาทจรดพระรัศมีรวม 10 นิ้วเท่าเลขรัชกาล สร้างด้วยศิลปะรัตนโกสินทร์ พร้อมฉัตรทองคำ 7 ชั้นกางกั้น น้ำหนักทองคำรวม 5 กิโลกรัมเศษ เพื่อถวายเป็นของเฉลิมพระขวัญในมหามงคลสมัยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค มาทรงบูชาพระรัตนตรัยและทรงสวมพระรัศมีทองคำลงยาราชาวดี(ฉัพพรรณรังสี) ถวายพระพุทธอังคีรสประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามในวันที่5 พฤษภาคม2562 เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชวินิจฉัยแบบพระพุทธรูป พร้อมพระราชทานแผ่นทองคำ ที่ทรงเจิมและทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานแล้ว เพื่อเชิญมาหล่อพระพุทธรูปดังกล่าวด้วย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 9 มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้ว 11 ครั้ง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในวันที่ 4-6 พ.ค.2562  เป็นครั้งที่ 12 ซึงการเตรียมการ ลำดับพระราชพิธี ตลอดจนคติต่างๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้รับการสืบทอดมายาวนานหลายร้อยปี  และแม้ว่าพระราชอำนาจบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม แต่วัฒนธรรมประเพณีอันเนื่องด้วยพระราชพิธีสำคัญยังคงสืบสานต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้

นอกจากการสร้างพระทองคำเพื่อเฉลิมพระขวัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ยังมีเหตุการณ์และสิ่งน่าสนใจที่จะเกิดขึ้นอีกหลายสิ่ง เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ. 2562 นี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 69 ปี หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 

พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) เป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นการเปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์ และพิธีรับน้ำอภิเษก (การรดน้ำที่พระหัตถ์)  โดย
- น้ำมุรธาภิเษก มาจากสระน้ำ 4 สระ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และน้ำจากแม่น้ำสำคัญทั้งห้า หรือ "เบญจสุทธคงคา" คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี
- น้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง 1 แหล่งน้ำ

การสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ หนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (เครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์) ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม 

การแสดงพระปฐมบรมราชโองการ หลังจากทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์และพระแสง ซึ่งตามหมายกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 พิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์จะมีขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค. (ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม") เป็นสิ่งที่พสกนิกรชาวไทยเฝ้ารอฟังและจะได้รับการบันทึกไว้อีกยาวนาน