รูปแบบเครื่องประดับทอง ของคนอินเดียใต้

06 / 06 / 2562 21:56

รูปแบบเครื่องประดับทอง ของคนอินเดียใต้

อินเดียใต้เป็นดินแดนที่ครอบคลุมเนื้อที่ 1 ใน 3 ของประเทศมีประชากรราว 260 ล้านคน ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในฐานะศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเมืองท่าที่เชื่อมต่อกับทะเลอันดามัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประชากรมีความเป็นอยู่ค่อนข้างดีและมีกำลังซื้อ แม้ปัจจุบันความเจริญจะพลิกโฉมอินเดียไปมากแต่ในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญายังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี  สัมผัสได้จากงานสถาปัตยกรรมที่  วรรณกรรม การแสดงพื้นเมือง รวมทั้งชิ้นงานเครื่องประดับที่มีรูปแบบแตกต่างจากเครื่องประดับทั่วไปอันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอินเดียใต้ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องประดับทองคำ

การผลิตเครื่องประดับในอินเดียใต้นั้นมีมานานหลายร้อยปี โดยเริ่มแรกเป็นการผลิตเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องบรรณาการและผลิตไว้ใช้สอยเฉพาะในหมู่เชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงของรัฐ ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของเมืองและประชากร ทำให้การบริโภคเครื่องประดับเริ่มกระจายตัวสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเต้นพื้นเมืองและบรรดาสุภาพสตรี ที่มักนิยมนำไปสวมใส่ในพิธีแต่งงาน งานมงคล และงานประจำท้องถิ่น ซึ่งวัสดุที่ใช้ผลิตมีทั้ง ทองคำและเงิน โดยตกแต่งตัวเรือนด้วยเพชร  พลอย  ทับทิม และมรกต 

การออกแบบเครื่องประดับยังคงเป็นเอกลักษณ์สำคัญทำให้เครื่องประดับของอินเดียใต้แตกต่างจากที่อื่น เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากศาสนาและความเชื่อประจำท้องถิ่น รวมทั้งการนำเอาสัญลักษณ์ทางโหราศาสตร์ ดวงดาว และราศีมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับด้วย ดังนั้นเครื่องประดับของชาวอินเดียใต้จึงมักสอดแทรกลวดลายหรือรูปแกะสลักของเทพเจ้าตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้าไปในชิ้นงานด้วยเสมอ ขณะที่เครื่องประดับของอินเดียตอนเหนือและตอนกลาง เน้นการเล่นลวดลายทางธรรมชาติ หรือลวดลายประยุกต์ที่มีความอ่อนช้อยใส่ลงไปในเครื่องประดับ ซึ่งเป็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน 

ปัจจุบันเครื่องประดับของอินเดียใต้เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความหลากหลายของช่วงวัยทำให้ฐานผู้บริโภคเครื่องประดับในอินเดียกว้างขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จากเดิมนิยมซื้อเครื่องประดับครบชุดไว้เป็นทรัพย์สินหรือใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆมาเป็นการใส่เพื่อความสวยงามในชีวิตประจำวัน  รูปแบบของเครื่องประดับจึงมีขนาดเล็กลง  และใช้เทคนิคการฉลุลายเข้าช่วยเพื่อทำให้ตัวเรือนมีน้ำหนักเบาลง ราคาลดลง และสะดวกสบายต่อการสวมใส่มากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงวัยและฐานะทางเศรษฐกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจึงพยายามใช้วัตถุดิบประเภททองชุบ หรือเงินมาผสานเข้ากับการออกแบบเครื่องประดับให้มีความร่วมสมัย ปรับลดความอลังการของชิ้นงานลง แต่ยังคงไว้ซึ่งความมีเสน่ห์ ดูมีพลัง และแนวคิดความเชื่อของอินเดียใต้เอาไว้อย่างลงตัว โดยที่สินค้ามีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่าย และใช้ประโยชน์ได้ในหลายโอกาส