
ลักษณะของทองคำกับการนำมาใช้ในงานทำทอง
06 / 06 / 2562 22:18
ลักษณะของทองคำกับการนำมาใช้ในงานทำทอง
ในสมัยโบราณการพิจารณาคุณภาพของเนื้อทอง และการตั้งราคาทองคำจะคำนวนตามคุณลักษณะของเนื้อทอง ที่มีตั้งแต่ทองเนื้อสี่ไปจนถึงทองเนื้อเก้า ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปตามมูลค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทอง โดยทองเนื้อเก้าจะแพงกว่าทองเนื้อสี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกำหนดด้วยคุณสมบัติของเนื้อทองที่นำไปใช้งาน หรือการนำไปแปรรูป โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปได้แก่
ทองดอกบวบ เป็นทองคำที่มีสีเหมือนดอกบวบ นิยมนำมาทำเป็นภาชนะต่างๆและพระพุทธรูป
ทองนพคุณ หรือทองเนื้อเก้า เป็นทองคำแท้ ทองคำบริสุทธิ์
ทองแล่ง เป็นทองคำที่นำมาแล่ง หรือทำเป็นเส้นลวดเล็กๆแล้วแต่จะนำไปใช้ในงานต่างๆ เช่น งานสาน งานขัด หรืองานทอ หรือใช้ปักเครื่องนุ่งห่มที่ทำขึ้นพิเศษ หรือทำเป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ มงกุฎ อาจใช้เป็นส่วนย่อยของเครื่องประดับชนิดต่างๆ หรือใช้คาดรัดร้อยยอดเจดีย์ที่ห่อหุ้มปลียอดด้วยทองคำ เป็นต้น
ทองแป คือ เหรียญทองในสมัยโบราณใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินตรานำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าตามมูลค่าได้
ทองใบ เป็นทองคำที่ตีแผ่เป็นแผ่นบางๆความหนาขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน จากนั้นนำไปตัดเป็นชิ้นๆเพื่อนำไปพับหรือม้วน บางครั้งก็เรียกว่า “ทองม้วน”
ทองเค เดิมเป็นชื่อใช้เรียกทองคำเพื่อเป็นเกณฑ์วัดความบริสุทธิ์ โดยทอง ๒๔ กะรัต หรือ ๒๔ เค ถือเป็นทองคำแท้ ส่วนทอง ๑๔ เค หมายถึง ทองที่มีจำนวนเนื้อทองคำ ๑๔ กะรัต ที่เหลือ ๑๐ กะรัตจะมีเนื้อโลหะอื่นเจือปน ปัจจุบันคำนี้มักหมายถึง ทองที่มีเนื้อโลหะอื่นเจือปนอยู่หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทองนอก”
ทองคำเปลว เป็นทองคำที่ตี เป็นแผ่นบางมากๆ ใช้สำหรับปิดองค์พระพุทธรูปหรือนำไปทำงานหัตถกรรมชั้นสูง เช่น ตู้พระธรรม งานไม้แกะสลักลาย มีการลงรักแล้วนำทองคำเปลวไปปิด ซึ่งเรียกกันว่า “ลงรักปิดทอง”
ทองรูปพรรณ คือ ทองคำที่นำมาเป็นเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู กำไล และแหวน
ทองรูปพรรณนี้เองเป็นที่มาของงานทองโบราณเป็นการทำเครื่องประดับที่มีลวดลายละเอียดอ่อน เป็นงานหัตกรรมที่ไม่ใช้เครื่องจักร ตั้งแต่การคิดลาย การรีดเส้นทอง การขึ้นรูป การทำงานออกมาในแต่ละชิ้นต้องอาศัยความแม่นยำในการสร้างรูปทรงตามที่ได้กำหนดขึ้นมาให้เป็นไปตามนั้นให้ได้ทองโบราณจึงมักมีคุณค่าทางใจ เป็นอย่างมาก