กะไหล่ทอง เปียกทอง ชุบทอง

11 / 06 / 2562 09:16

กะไหล่ทอง เปียกทอง ชุบทอง

กะไหล่ คือกรรมวิธีการเคลือบโลหะด้วย “ทองคำหรือเงิน” โดยการใช้ปรอทมาละลายทองคำหรือเงิน ให้เป็นของเหลว แล้วทาลงบนโลหะที่ต้องการจะเคลือบ จากนั้นก็ไล่ปรอทออกโดยการใช้ความร้อน เราจะพบการกะไหล่ในงานต่างๆเช่น พานกะไหล่เงิน พานกะไหล่ทองคำ  สร้อยสังวาลกะไหล่ทองคำ เป็นต้น

การกะไหล่ทองคำแตกต่างจากการชุบด้วยทองคำ เพราะการกะไหล่ทองคำจะใช้น้ำหนักทองคำมากกว่า และจะต้องนำทองคำมาผสมกับปรอททำให้ทองคำละลายกลายเป็นของเหลวแล้วจึงนำไปเคลือบบนผิวของโลหะที่จะกะไหล่ ส่วนการชุบทองเป็นการชุบเคลือบผิวโลหะด้วยไฟฟ้า ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีช่างทำงานกะไหล่ทองแล้ว เนื่องจากต้องทำงานกับสารปรอทซึ่งเป็นสารพิษที่ร้ายแรง ถ้าสูดดมมากๆจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย งานกะไหล่ทองที่หลงเหลืออยู่จึงเป็นงานเก่าที่สะสมไว้ และไม่สามารถสั่งงานกะไหล่ทองใหม่ๆได้อีกแล้ว 

นอกจากจะพบในข้าวของเครื่องใช้ต่างๆแล้ว เรายังพบวิธีการทำกระไหล่ทอง อย่างแพร่หลายในวงการพระเครื่อง ร่วมกับการเปียกทอง และการชุบทอง ซึ่งคุ้นเคยกันดีสำหรับนักสะสมพระเครื่องโดยพระเครื่องที่ผ่านกรรมวิธีกะไหล่ทอง จะมีลักษณะผิวทองบางๆ และมักติดไม่ทั่วองค์พระ ส่วนที่ถูกสัมผัสจะเห็นผิวสีขาวจากตะกั่วที่ทาก่อนเป่าแผ่นทองติดลงไป

การเปียกทอง เป็นกรรมวิธีการใช้ความร้อนทำให้ตะกั่ว ซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำละลายผสมกับทองคำที่ตะไบให้เป็นผงละเอียด จากนั้นนำมาทาเข้ากับผิวพระเครื่องที่ต้องการทำผิวให้เป็นทองคำ เมื่อทาเสร็จแล้วใช้ไฟเป่าไล่โลหะตะกั่วออกเหลือแต่เนื้อทองคำติดอยู่ที่ผิวพระ การเปียกทองทองนี้ทำกันมาตั้งแต่ปี 2450แล้วค่อยๆหายไป จนปี 2500 ก็ไม่พบวิธีการเปียกทองอีกเลย  พระเปียกทองนั้นจะมีลักษณะของทองคำเข้มข้นและติดแน่นทั่วองค์ มีสีขาวของตะกั่วอยู่น้อยหรือไม่มีปรากฏอยู่เลยตามองค์พระ

การทำผิวทองคำพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงยุคที่มีการใช้ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย จึงมีการนำเทคโนโลยี “การชุบทอง” มาใช้โดยหลักการง่ายๆของฟิสิกส์ คือการนำไฟฟ้าต่างขั้วของโลหะต่างชนิดกัน พระชุบทอง จะมีลักษณะสีทองเคลือบหนา ติดทั่วทุกส่วนขององค์พระ  จุดสัมผัสจะไม่มีปรากฏผิวสีขาว และหลุดลอกเป็นแผ่นๆได้ง่ายกว่าการเปียกทอง หรือกะไหล่ทอง

การมาของเทคโนโลยีการชุบทองทำให้การ“เปียกทอง” และ “กะไหล่ทอง” หายไปโดยสิ้นเชิงเนื่องจากมีความปลอดภัยจากสารตะกั่ว และสารปรอท นั่นเอง