สถานการณ์ทองคำโลกเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี 2562

11 / 06 / 2562 09:19

สถานการณ์ทองคำโลกเมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี 2562

สภาทองคำโลก รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาส 1 ปี 2562 โดยมีข้อมูลที่สำคัญดังนี้
- ความต้องการโดยรวมของทองคำทั้งโลก อยู่ที่ 1,053.3 ตัน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับระดับ 984.2 ตันในไตรมาส 1 ปี 2561
- ความต้องการบริโภคทองคำโดยรวม ทรงตัวที่ 788.1 ตัน เทียบกับระดับ 788.6 ตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- ความต้องการลงทุนทองคำโดยรวม เพิ่มขึ้น 3% แตะที่ 298.1 ตัน เทียบกับระดับ 288.4 ตันในไตรมาส 1 ปี 2561
- ความต้องการทองรูปพรรณทั่วโลก ขยายตัว 1% แตะที่ 530.3 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 527.3 ตันในช่วงเดียวกันของปี 2561
- ความต้องการจากธนาคารกลาง เพิ่มขึ้น 68% สู่ระดับ 145.5 ตัน เทียบกับระดับ 86.7 ตันในไตรมาส 1 ปี 2561
- ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยี ลดลง 3% มาอยู่ที่ 79.3 ตัน เทียบกับ 81.8 ตันในไตรมาส 1 ปี 2561
- อุปทานรวมแทบไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ 1,150 ตัน ขยับลงเล็กน้อยจาก 1,153.1 ตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- การรีไซเคิล เพิ่มขึ้น 5% ที่ระดับ 287.6 ตัน เทียบกับ 274.6 ตันในไตรมาส 1 ปี 2561

จะเห็นว่าความต้องการทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 68% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 และถือเป็นการเริ่มต้นปีที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ทั้งนี้มีปัจจัยมาจากความต้องการกระจายการลงทุนและความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ซึ่งหากรวมกับ 3ไตรมาสหลังของปี 61 การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกทำสถิติสูงสุดที่ 715.7 ตัน

ส่วนความต้องการทองรูปพรรณในไตรมาส 1 แตะที่ 530.3 ตัน ขยายตัว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วนั้นได้แรงหนุนมาจากอินเดีย  เพราะช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมตรงกับเทศกาลแต่งงานที่ชาวอินเดียนิยมซื้อทองรูปพรรณเป็นสินสอดหรือของขวัญ ทำให้ความต้องการทองรูปพรรณในประเทศปรับตัวขึ้นเป็น 125.4 ตัน เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นระดับสูงที่สุดสำหรับไตรมาส 1 นับตั้งแต่ปี 2558
นอกจากนี้ การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำยังลดลงเล็กน้อย โดยลดลง 1% มาอยู่ที่ระดับ 257.8 ตัน การปรับตัวลงนี้มีสาเหตุมาจากความต้องการทองคำแท่งลดลงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการซื้อเหรียญทองยังขยายตัวได้ 12% สู่ระดับ 56.1 ตัน จีนและญี่ปุ่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การลงทุนดังกล่าวลดลง โดยในญี่ปุ่น การลงทุนสุทธิพลิกติดลบจากแรงขายทำกำไร หลังจากที่ราคาทองในประเทศพุ่งทะยานขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์

ขณะที่การใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรม เช่น ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไร้สาย และไฟ LED ก็ปรับตัวลดลง 3% แตะที่ 79.3 ตัน เนื่องจากความขัดแย้งทางการค้า ยอดขายที่ซบเซาของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และความท้าทายทางเศรษฐกิจทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้