“ขุมทองแอฟริกา” กับปัญหาการค้าทองในตลาดมืด

11 / 06 / 2562 18:12

“ขุมทองแอฟริกา” กับปัญหาการค้าทองในตลาดมืด

มีการวิเคราะห์กันว่าในแต่ละปี ทองคำมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกลักลอบขนออกจากทวีปแอฟริกาผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ที่เป็นประตูทางผ่านทองคำไปสู่ตลาดในยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่นๆทั่วโลก

ข้อมูลด้านศุลกากรระบุว่า ในปี พ.ศ.2559 ยูเออีนำเข้าทองคำจากแอฟริกามีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 446 ตัน มูลค่ากว่า 15,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว473,735 ล้านบาท ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วง 10 ปี คือเพิ่มขึ้นจาก 67 ตัน มูลค่ารวม 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือ40,785 ล้านบาท ในปี 2549 และที่สำคัญ ทองคำจำนวนมากเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกในการส่งออกของหลายประเทศในแอฟริกาแสดงให้เห็นว่าทองคำจำนวนมากออกจากทวีปแอฟริกาโดยไม่เสียภาษีให้ประเทศที่ผลิตแต่อย่างใด

มีผลการศึกษาระบุออกมาอย่างชัดเจนว่ามีการค้าทองคำในตลาดมืดและการทำเหมืองแร่ทองคำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่ทั่วไปในแอฟริกา ประชาชนจำนวนมากหลายล้านคนทั่วทวีปทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการขุดหรือร่อนทองกันเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ และแทบไม่ได้รับการควบคุมดูแลจากเจ้าหน้ารัฐแต่อย่างใด เรียกว่าการทำเหมืองแบบดั้งเดิม (Artisanal mining) ซึ่งมีรายได้ดีกว่าเป็นลูกจ้างในเหมืองที่ถูกกฎหมาย แต่การทำเหมืองแบบดั้งเดิมนี้ก่อให้เกิดปัญหาหนักทางด้านสิ่งแวดล้อม สารเคมีจากแร่หรือโลหะรั่วไหลเข้าสู่หิน ดินและแม่น้ำลำคลอง

หลายประเทศในกาฬทวีป เช่น กานา แทนซาเนีย และแซมเบีย กำลังเผชิญกับการทำเหมืองแร่ทองคำแบบผิดกฎหมาย  และการลักลอบขนทองคำออกนอกประเทศในปริมาณมหาศาลโดยแก๊งผู้มีอิทธิพลทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ที่รับซื้อทองคำจากชาวบ้านแล้วส่งออกผ่านคนกลาง ซึ่งแน่นอนว่าขบวนการนี้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยจากการขัดผลประโยชน์นอกกฎหมาย และรัฐสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล นอกเหนือจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) หนึ่งในประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ ตัวเลขส่งออกทองคำอย่างเป็นทางการน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณผลิตตามประเมิน ทองคำจากดีอาร์คองโกส่วนใหญ่ถูกลักลอบขนผ่าน 2 ประเทศเพื่อนบ้านคือ ยูกันดาและรวันดา โดยแก๊งมาเฟียทรงอิทธิพลข้ามชาติหลายแก๊งบงการอยู่เบื้องหลัง

ประธานาธิบดีนานา อากูโฟ-อัดโด ผู้นำกานา ประเทศผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา (รองจากแอฟริกาใต้ โดยมีแทนซาเนียเป็นผู้ผลิตอันดับ 3) เปิดเผยต่อที่ประชุมเหมืองทองคำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 62 ที่ผ่านมาว่า “การทำเหมืองแบบดั้งเดิม เริ่มต้นจากการลงทุนขนาดย่อย ก่อนจะเติบโตเป็น "ปฏิบัติการขนาดใหญ่และอันตราย" ควบคุมโดยแก๊งมาเฟียต่างชาติ “ เป็นการสะท้อนภาพการทำธุรกิจเหมืองทองคำของทวีปแอฟริกาได้อย่างชัดเจน