
สามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดีย
21 / 06 / 2562 13:39
สามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดีย บางคนเรียกว่า 3 อัญมณีแห่งอินเดียประกอบไปด้วยเมืองซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมอินเดียโบราณมาจนถึงปัจจุบันอันได้แก่ นิวเดลี อัครา และ ชัยปุระ เนื่องจากเมืองทั้งสามอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน การเดินทางไปยังทั้ง 3 เมืองมีลักษณะเป็นเหมือนสามเหลี่ยม ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวชมเมืองที่อยู่บนแต่ละมุมของสามเหลี่ยม จึงทำให้ทั้งสามเมืองนี้ถูกเรียกว่า “สามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดีย” หรือGolden Triangle of India
นิวเดลี (New Delhi) เมืองหลวงของอินเดีย เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ รัฐสภา ศูนย์กลางการปกครองต่าง ๆ และสถานทูต แลนด์มาร์คสำคัญมากมาย เช่น ประตูเมืองอินเดีย หรือIndia Gate สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารที่พลีชีพในสงครามครั้งสำคัญๆ ป้อมแดง หรือ Red Fort คนอินเดีย เรียกที่นี่ว่า ลาล ขีลา ป้อมปราการที่จักรพรรดิชาห์ จาฮาน แห่งราชวงศ์โมกุล ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นหัวใจของนครซาห์ชาฮานาบัด เมื่อปี 1639 ชื่อป้อมแดงมาจากเนินทรายสีแดงที่ใช้ก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า Lal Gila ภายในเป็นพระราชวังของชาห์ จาฮาน (ผู้สร้างทัชมาฮาล) ผนังห้องงดงามด้วยหินสีต่างๆที่ถูกฝังลงไป มีราชบัลลังก์นกยูง เป็นทองคำแท้ ฝังด้วยเพชร จารึกอักษรข้อความ “If there is a paradise on earth it is this, it is this, it is this” เป็นประโยคคลาสสิกที่ตรึงใจใครหลายคน
อัครา (Agra) เมืองนี้คือที่ตั้งของอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ทัชมาฮาล(Taj Mahal) อนุสรณ์แห่งความรักที่พระเจ้าชาห์ จาฮาน ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระมเหสีผู้เป็นที่รัก และถูกยกย่องว่าเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่สวยงามที่สุดในโลก อัครา อยู่ห่างจากเดลลีประมาณ 200กิโลเมตร ที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงของอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพรหมบุตร หรือแม่น้ำยมุนา เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของอินเดีย ที่เมืองนี้ยังมี ป้อมอัครา (Agra Fort)ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1983 ด้วยความงามที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานกับความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างที่เป็นศิลปะเฉพาะตัวของราชวงศ์โมกุล และยังแสดงถึงการรวมธรรมเนียมประเพณีของศาสนาอิสลาม และฮินดูเข้าด้วยกันผ่านรายละเอียดของสถาปัตยกรรมต่าง ๆ
ชัยปุระ (Jaipur) เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐราชสถาน ได้รับขนานนามว่าเป็น “นครสีชมพู”เนื่องจากในปี 1876 มหาราช ซาราม ซิงห์ (Maharaja Ram Singh) ได้มีรับสั่งให้ประชาชนทาสีชมพูทับบนสีปูนเก่าของบ้านเรือนตนเอง เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) มกุฎราชกุมารของอังกฤษในขณะนั้น จนเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งโลก
ชัยปุระเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมงดงามมากมาย เช่น ฮาวามาฮาล (Hawa Mahal) หรือที่ พระราชวังแห่งสายลม (Palace of the Winds) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเมือง สร้างจากหินทรายสีแดงและสีชมพู สูง 5 ชั้น มีหน้าต่างฉลุช่องลมสีชมพูอมส้ม 953 ช่องจนดูเหมือนรังผึ้ง หน้าต่างฉลุลวดลายนี้มีไว้เพื่อให้นางในวังมองทะลุมาเห็นชีวิตนอกวังได้
สามเหลี่ยมทองคำแห่งอินเดีย จึงเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่ปรารถนามาเห็นให้ได้ด้วยตาตัวเองสักครั้ง