รัดพระองค์ทองคำ / ปั้นเหน่งเพชร แห่งตระกูล จักรพงศ์

03 / 07 / 2562 10:56

ที่พิพิธภัณฑ์ victoria & albert museum ประเทศอังกฤษ มีสมบัติเก่าแก่ของตระกูล จักรพงศ์ จัดแสดงอยู่ นั่นคือ รัดพระองค์ทองคำ(เข็มขัด) และปั้นเหน่งเพชร(หัวเข็มขัดเพชร) ซึ่งคาดว่าหม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงศ์ (มารดาของฮิวโก้ จุลจักร จักรพงศ์) อนุญาตให้ทางพิพิธภัณฑ์ยืมมาจัดแสดงไว้ ไม่ใช่การจำหน่ายถ่ายโอนแต่อย่างใด ซึ่งบ่อยครั้งที่พิพิธภัณฑ์ดังๆจะยืมเครื่องประดับจากราชวงศ์ในยุโรปหรือราชวงศ์อื่นๆทั่วโลกไปจัดแสดงเพื่อให้คนทั่วไปได้ชื่นชมชม

ในเว็บไซต์ทางการของพิพิธภัณฑ์ victoria & albert museum  ได้อธิบายถึงรัดพระองค์ทองคำ(เข็มขัด) และพระปั้นเหน่งเพชร(หัวเข็มขัดเพชร)นี้ไว้ว่า “รัดพระองค์เส้นนี้ ได้ถูกสั่งทำโดย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในช่วงยุคปี 1890 งานประดับทองนี้ ถือว่าเป็นงานประณีตขั้นสูง สมกับที่ได้รับการพระราชดำรัสให้จัดทำขึ้นโดยพระราชวงศ์ชั้นสูง ในส่วนของรัดพระองค์มีความสลับซับซ้อน บ่งบอกถึงประเพณีอันยาวนานของการถักทอง ทอเส้นทอง ออกมาอย่างวิจิตรงดงามของไทย และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ด้วยรัดพระองค์เส้นนี้ ”  ทั้งนี้ได้มีพระบรมฉายาลักษณ์แสดงประกอบยืนยันด้วย

รัดพระองค์ทองคำและพระปั้นเหน่งเพชร นี้หม่อมอลิซาเบธ จักรพงศ์ ณ อยุธยา(คุณยายของ ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์) พระชายาในพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เคยใส่เข้าร่วมพิธีพระบรมราชาภิเษก ของพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ด้วย ปัจจุบันตกทอดมาเป็นสมบัติของทายาทของตระกูลจักรพงศ์ ที่สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งนอกจากรัดพระองค์ และพระปั้นเหน่งเพชรนี้แล้วก็ยังมีสมบัติเก่าแก่ล้ำค่าอีกมากมายที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นปัจจุบันของตระกูลจักรพงศ์

ต้นราชสกุลจักรพงษ์ คือสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือทูลกระหม่อมเล็ก พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระเชษฐาธิราชในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเป็นรัชทายาทลำดับที่สองแห่งการสืบราชสันตติวงศ์ พระองค์ทำผิดประเพณีด้วยการเสกสมรสกับคัทริน เดสนิตสกี สุภาพสตรีเชื้อสายยูเครนจากรัสเซียโดยไม่ได้ทรงขออนุญาตจากพระพระราชชนกและพระราชชนนีทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงผิดหวังและกริ้วหนักมาก ต่อมาหม่อมคัทรินประสูติพระโอรสเป็นลูกครึ่งและมีฐานันดรเป็นหม่อมเจ้าโดยอัตโนมัติ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงประทานพระนามให้ว่า “หม่อมเจ้าพงษ์จักร” ภายหลังหม่อมคัทรินหย่าร้างกับสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระสวามีแล้วเดินทางไปอยู่เซียงไฮ้กับพี่ชาย ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถก็ทิวงคตในปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาสงสารพระภาติยะ(หลานที่ลูกของพี่ชาย หรือน้องชาย)ซึ่งกำพร้าชนกชนนีจึงสถาปนาหม่อมเจ้าพงษ์จักรขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2463

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2466 ทรงร่างกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2467 ให้ยกเว้นผู้มีพระชายาเป็นนางต่างด้าวจากการสืบราชสันตติวงศ์ ด้วยเหตุนี้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงถูกตัดออกจากการสืบราชสมบัติ เพราะมีหม่อมมารดาเป็นนางต่างด้าวนั่นเอง