เจ้าดาราทอง เจ้าชายนักแข่งรถแห่งสยาม

03 / 07 / 2562 10:57

ในปลายทศวรรษที่ 1830 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในอังกฤษ ลงข่าวเจ้าชายแห่งสยามที่ทรงชนะเลิศอันดับหนึ่งของการแข่งรถระหว่างชาติทั่วทวีปยุโรป 3 ปีซ้อน คือปี 1936 ปี 1937 และ ปี 1938 จนคว้าตำแหน่ง" ดาราทอง "ของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษมาครอง เหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ประชาชนทั่วไปในยุโรปรู้จักชื่อ ประเทศสยาม เจ้าชายพระองค์นั้นคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช “พระองค์พีระ” เจ้าของฉายา “เจ้าดาราทอง” 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชและหม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา พระองค์ประสูติเมื่อวันที่  15 กรกฎาคม พ.ศ.2457 จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอีตัน และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และเปลี่ยนไปศึกษาด้านประติมากรรม ที่ Byam Shaw School of Art 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ทรงแข่งรถโดยได้รับการสนับสนุนจาก "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์" ทั้งสองพระองค์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักแข่งรถในชื่อ Prince Bira และ Prince Chula ทรงขับรถยี่ห้อ อี.อาร์.เอ. (English Racing Automobiles - E.R.A.) ทาสีฟ้าสดใส รถที่ใช้ในการแข่งขัน ชื่อ รอมิวลุส (Romulus) รีมุส (Remus) และ หนุมาน (Hanuman) สีฟ้าแบบนี้ ปัจจุบันเรียกว่า ฟ้าพีระ (Bira blue)

พระองค์เจ้าพีระทรงมีพระปรีชาด้านการแข่งรถจนเป็นที่ยอมรับ โดยทรงชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรกในรายการ Coupe de Prince Rainier ที่เซอร์กิตเดอโมนาโก (รายการ โมนาโกกรังด์ปรีซ์ในปัจจุบัน) ได้รับถ้วยเจ้าชายเรนีย์แห่งโมนาโก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.  2479 โดยทรงขับรถรอมิวลุส และทรงชนะเลิศการแข่งรถกรังด์ปรีซ์ในยุโรปอีกหลายครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1936, 1937  และ 1938 จนได้รางวัล ดาราทอง (BRDC Road Racing Gold Star) จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร  3 ปีซ้อน และได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศของสมาคมนักแข่งรถอังกฤษ

เมื่อปลายปี พ.ศ.  2480 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เสด็จกลับมาเยี่ยมประเทศไทย และนำรถรอมิวลุส กลับมาขับโชว์ และจัดประลองความเร็วที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.  2480 โดยราชยานยนต์สมาคมแห่งสยาม และจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมที่วังจักรพงศ์ มีผู้คนเข้ามาชมเป็นจำนวนมากและทั้งสองพระองค์ยังทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการเตรียมการจัดการแข่งขันกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ (Bangkok Grand Prix) โดยเชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 2 ไมล์ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2492 แต่การแข่งขันนี้ต้องยกเลิกไป เพราะเกิดสงครามโลกขึ้นเสียก่อน
 
ด้านชีวิตครอบครัวพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เสกสมรส 5 ครั้ง กับหม่อมซิริล เฮย์คอค ชาวอังกฤษ  หม่อมชลิต้า โฮวาร์ด ชาวอาร์เจนตินา  หม่อมสาลิกา กะลันตานนท์  หม่อมอรุณี จุลทะโกศล และหม่อมชวนชม ไชยนันท์ 

เมื่อพ.ศ. 2526 เสด็จกลับไปอังกฤษอีกครั้ง เก็บพระองค์อย่างชายชราที่ไม่มีใครรู้จัก ทรงแวะเยี่ยมหม่อมซีริลเป็นครั้งสุดท้าย สองวันก่อนคริสต์มาสคือวันที่  23 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ชายชราคนหนึ่งล้มลงสิ้นลมหายใจที่สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ต  ไม่มีใครทราบว่าชายชาวเอเชียคนนี้เป็นใคร ไม่มีหลักฐานอะไรในตัวเขา นอกจากจดหมายเขียนเป็นภาษาที่ตำรวจอ่านไม่ออก สก๊อตแลนด์ยาร์ดส่งจดหมายไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางภาษาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ทราบอีก 7 วันต่อมาว่าชายชราผู้นั้นคือ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เจ้าดาราทองผู้โด่งดังที่สุดเมื่อ 50 ปีก่อน สิ้นพระชนม์ในวัย71 ปี