Globe of Jewel หรือลูกโลกทองคำ ใน National Jewelry Museum

03 / 07 / 2562 10:59

พิพิธภัณฑ์เครื่องเพชรพลอย  National Jewelry Museum ของอิหร่านเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บเครื่องเงิน ทอง และเครื่องประดับอัญมณีเพลรพลอย และไข่มุก  ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกกลางกรุงเตหะราน  ซึ่งเป็นสมบัติเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ซาฟาวิด จนถึงสมัยราชวงศ์ปาห์ลาวี มีทั้งงานฝีมือช่างชาวอิหร่านและฝีมือห้างเพชรทองชื่อดังจากฝรั่งเศส ตั้งอยู่ในห้องนิรภัยของธนาคารชาติอิหร่าน กลางกรุงเตหะราน มีเครื่องประดับชิ้นสำคัญมากมายเช่น Globe of Jewel  หรือลูกโลกทองคำ Darya-i-nur หรือ Sea of light มหามงกุฎแห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี บัลลังก์นกยูง เป็นต้น

Globe of Jewel  หรือลูกโลกทองคำ สร้างเมื่อปี 1869 โดยคำสั่งของ Nasser-ed-din มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 66 เซนติเมตร ตัวขาตั้งทำจากทองและประดับอัญมณี โดยใช้ทองคำหนัก 34 กิโลกรัม ประดับอัญมณี 51,366 เม็ด ซึ่งมีน้ำหนัก 18,200 กะรัตในการสร้างสรรค์ชิ้นงานนี้ มีการใช้ มรกตแทนสีเขียวของ ทะเลและมหาสมุทร  และใช้ทับทิมแทนบริเวณที่เป็นแผ่นดิน ส่วนที่เป็นประเทศอิหร่าน อังกฤษ ฝรั่งเศส และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประดับด้วยเพชร และใช้ทับทิมสีอ่อนแทนประเทศอินเดีย

บัลลังก์นกยูง ( The Peacock Throne หรือ Sun Throne) หรือบัลลังก์สุริยัน ประดับด้วยเพชรนิลจินดามากกว่า 26,000 ชิ้น  ในหนังสือ ‘Treasury of National Jewels ...Witnesses of History’ ของธนาคารชาติอิหร่าน บรรยายเกี่ยวกับบัลลังก์นกยูงไว้ว่า ไว้ว่า สร้างในสมัย ฟาตห์ อาลี ชาห์ แห่งราชวงศ์กอญัร (ค.ศ.1772-1834) และตั้งชื่อว่า Peacock Throne  ตามชื่อสนมคนโปรดของ ฟาตห์ อาลี ชาห์ ที่ชื่อ ‘Tavous khanoom’ ที่มีการเรียกขานอีกชื่อว่า Lady Peacock  (Tavous เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า นกยูง) ต่อมา บัลลังก์นี้ ผ่านการปรับปรุง-ตกแต่ง-เพิ่มเติมหลายครั้งในสมัยชาห์อิหร่านในยุคต่อๆ มา จนกลายเป็นบัลลังก์ตามรูปแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน 

Darya-i-nur หรือ Sea of light เพชรสีชมพูอ่อน 182 กะรัต ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่รายล้อมด้วยอัญมณีอื่นที่ล้ำค่าถึงเกือบห้าร้อยเม็ด เป็นเครื่องประดับชิ้นที่สำคัญที่สุดในพิพิธภัณฑ์นี้ ว่ากันว่า เดิมเพชรเม็ดนี้หนักถึง 242 กะรัต แต่ภายหลังมีการตัดแบ่งออกเป็น 2 เม็ด  ในหนังสือ Treasury of National Jewels ของธนาคารแห่งชาติอิหร่าน ระบุอีกว่า เพชรสีชมพู เป็นเพชรเม็ดหนึ่งที่ประดับอยู่ในมงกุฎของ พระเจ้าไซรัสมหาราช (600 หรือ 576 - 530 ก่อนคริสตกาล) ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเพชรในอดีตเชื่อว่า เพชร Darya –i- Nour กับ เพชร Noor-ul-Ain (ดวงตาแห่งแสง) น่าจะเป็นเพชรเม็ดเดียวกัน ก่อนถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยเพชรดวงตาแห่งแสงนั้น ถูกนำไปประดับในมงกุฎรัดเกล้าให้กับ ฟาราห์ ปาห์ลาวี มเหสีของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี แห่งอิหร่าน ปัจจุบันตั้งแสดงในห้องนิรภัยของธนาคารชาติอิหร่านนั่นเอง
ส่วน เพชร Koh-i-Noor ว่ากันว่า ตกไปอยู่ในมือของ บริษัทอีสต์อินเดีย ของอังกฤษ หลังจากอาณาจักรซิกข์ แห่งอินเดียเหนือ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามอังกฤษ-ซิกข์ ครั้งที่สอง จนในที่สุดยอดเพชรในตำนานเม็ดนี้ ตกอยู่ในความครอบครองของ ควีนวิคตอเรีย และต่อมากลายไปเป็นเพชรประดับมงกุฎราชินีแห่งราชวงศ์อังกฤษ ในปัจจุบัน ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่หอคอยแห่งลอนดอน ...มีข่าวหลายครั้งว่าคนอินเดียทวงคืน แต่รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธที่จะส่งกลับ

นอกจากนี้ยังมีมหามงกุฎแห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี ใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาห์แห่งราชสกุลปาห์ลาวีทั้ง 2 พระองค์ มงกุฎนี้ทำจากเงินและทอง กรุผ้ากำมะหยี่สีแดงปักประดับเพชร รวมน้ำหนักมงกุฎทั้งสิ้นกว่า 2 กิโลกรัม ซึ่งนอกจากจะแสดงอัญมณีบนเครื่องประดับแล้วพิพิธภัณฑ์เครื่องเพชรพลอย  National Jewelry Museum ยังจัดแสดง เพชร พลอย ไข่มุก  เป็นแบบ ชิ้นๆ (loose piece) ในถาดอีกมากมาย