ทำเลทอง อีอีซี

03 / 07 / 2562 11:00

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้มีการขยายการลงทุนด้านสาธารณูปโภค การคมนาคมจากภาครัฐเพื่อรองรับพื้นที่ภาคตะวันออก ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เติบโตตามไปด้วย ทำให้พื้นที่ใน 3 จังหวัดนี้กลายเป็น “ทำเลทอง” ไปในทันที ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนาเป็นที่พักอาศัย เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่จะหลั่งไหลเข้ามาพักอาศัยในพื้นที่เพื่อทำงานกันมากยิ่งขึ้น

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดเผยรายงานสรุปผลการสำรวจอุปสงค์และอุปทานของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ที่ผ่านมา ใน 3 พื้นที่จังหวัดโครงการอีอีซี ระบุว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการรวม 974 โครงการ มูลค่า 561,227 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 760 โครงการ มูลค่า 301,093 ล้านบาท โครงการอาคารชุด 198 โครงการ มูลค่า 245,247 ล้านบาท และโครงการวิลล่า 16 โครงการ มูลค่า 14,888 ล้านบาท  มีหน่วยเหลือที่รอขายเพียง 54,653 หน่วย หรือเพียง 37.1% ของหน่วยในโครงการทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นบ้านจัดสรร 39,829 

จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พบว่าในพื้นที่จังหวัดในอีอีซี โดยสรุปภาพรวมในปี 2561 ทั้งปีสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
โดยตั้งเป้าให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่าอยู่ รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก  จังหวัดชลบุรีเป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาทักษะนานาชาติ “ศรีราชา-แหลมฉบัง” เป็นเมืองอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ เชื่อมสู่การผลิตภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน “พัทยา-สัตหีบ-อู่ตะเภา” เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ครอบครัว สุขภาพ และสันทนาการระดับโลก รวมถึงศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์แห่งอาเซียน และยกระดับ “มาบตาพุด-ระยอง” เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในอาเซียน และอุตสาหกรรมพลังงานเคมี ชีวภาพ วิจัยอาหารและไบโออีโคโนมี

ส่วนแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตอีอีซีปี 2562 คาดการณ์ว่ายังโตต่อเนื่องในไตรมาส 1 แต่
ในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ของปี 2562 ด้านอุปสงค์ จะชะลอตัวลง คาดการว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า เมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนในด้านอุปทานที่อยู่อาศัยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีของภาครัฐ โดยมีข้อสังเกตว่า ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ส่งผลให้อุปทานบ้านแนวราบมีแนวโน้มที่จะมีการขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวในกลุ่มของทาวน์เฮาส์และบ้านแฝดมากขึ้น ขณะที่อาคารชุดจะยังเป็นอุปทานที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
   
จากการจัดเก็บข้อมูลภาพรวมในปี 2561 ตลอดทั้งปี มีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน
เพื่อที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัดอีอีซี จำนวน 165 โครงการ 17,290 หน่วย จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยคือประมาณ 0.6% แต่จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยในไตรมาส 4 ปี 2561 มีการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน โดยส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์มากที่สุด จำนวน 2,634 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 5% ของจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว จำนวน 1,129 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 22.7% และบ้านแฝด จำนวน 1,110 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 22.3% ส่วนที่เหลือเป็น อาคารพาณิชย์และที่ดินจัดสรร

ทั้งนี้ ในปี 2561 มีการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดินโดยส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์มากที่สุด
จำนวน 9,749หน่วย รองลงมาเป็นบ้านแฝด จำนวน 3,879 หน่วย และบ้านเดี่ยว จำนวน 3,360 หน่วย เป็นอาคารพาณิชย์จำนวน 238 หน่วย และที่เหลือเป็นที่ดินจัดสรร

จะเห็นว่า การเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อีอีซี มีทิศทางที่สะท้อนความต้องการจริง
ไม่เป็นเพียงฟองสบู่แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่