กฎหมายฟอกเงิน (ปปง) ที่ร้านทองควรรู้

15 / 07 / 2562 11:48

ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านค้าทองคำ ที่เป็นนิติบุคคล มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ซึ่งมีสาระสำคัญที่ต้องปฏิบัติตามทั้งในส่วนของลูกค้าและในส่วนของร้านทองได้แก่

1. ธุรกรรมที่ต้องรายงาน
- ธุรกรรมเงินสด เมื่อลูกค้าซื้อ-ขายทองคำ ด้วยเงินสดที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ร้านทองต้องรายงานธุรกรรมนั้น ต่อ ปปง.ในแต่ละเดือน
- ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย เมื่อลูกค้าซื้อ-ขายทองคำ ด้วยเงินสด เช็ค เงินโอน หรืออื่นๆ ซึ่งมีพฤติกรรมหรือลักษณะ อันน่าสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงิน (โดยไม่มีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำ) ให้ร้านทองส่งรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการตรวจสอบและพบความน่าสงสัย

2. การจัดให้ลูกค้าแสดงตน 
เมื่อมีลูกค้า ซื้อ-ขายทองคำ กับร้านทองเป็นครั้งคราว ซึ่งไม่ได้มีการทำสัญญา หรือข้อตกลง หรือลักษณะซื้อขายอย่างต่อเนื่องจากลูกค้า มูลค่าตั้งแต่ 1 แสนบาท ขึ้นไปหรือมีร่องรอยความต่อเนื่องรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ 1 แสนบาท ขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตน โดยอย่างน้อยต้องแสดงข้อมูลและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
-ลูกค้าบุคคลธรรมดาแสดง ชื่อ-นามสกุล วัน เดือน ปี เกิด  เลขที่บัตรประจำตัว ที่อยู่ อาชีพ สถานที่ทำงาน ข้อมูลติดต่อ และลายมือชื่อผู้ทำธุรกรรม ส่วน
-ลูกค้านิติบุคคลต้องแสดงชื่อ-นิติบุคคล เลขผู้เสียภาษี  หลักฐานสำคัญแสดงตน เช่น หนังสือรับรองฯ สถานที่ตั้ง, เบอร์โทร ชื่อผู้มีอำนาจลงนามแทนนิติฯ ข้อมูลของผู้มีอำนาจลงนามที่รับมอบหมายทำธุรกรรม ประเภทกิจการ ตราประทับ(ถ้ามี) และลายมือชื่อผู้มีอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจลงนาม ไม่หลักฐานนี้ต้องรายงานต่อ ปปง. แต่ต้องเก็บข้อมูลไว้ในกรณีบังเอิญธุรกรรมนั้น เป็นการฟอกเงินของลูกค้า ซึ่งจะช่วยให้ร้านทองแสดงความบริสุทธิ์ หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

3. การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
กำหนดขึ้นเพื่อประเมินและบริหารความเสี่ยงก่อนอนุมัติรับลูกค้าและติดตามความเคลื่อนไหวทาง การเงินจากการทำธุรกรรมของลูกค้า ว่ามีพฤติการณ์ผิดปกติ หรือมีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ เพื่อไม่ให้ ผู้ประกอบการถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน และสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายโดย
- ตรวจสอบว่าลูกค้าได้ให้ข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ เช่น ชื่อ–นามสกุล เลขประจำตัว ที่อยู่ เป็นต้น
- ตรวจสอบ รายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดห้ามทำธุรกรรม ตามประกาศของสำนักงาน ปปง .หรือ บุคคลที่สำนักงาน ปปง. แจ้งว่าเป็นรายชื่อที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มีสถานภาพ ทางการเมือง โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน ประกอบด้วย นักการเมือง นักการเมืองส่วนท้องถิ่น (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต., อบจ.) และราชการในส่วนกลาง
- พิจารณาปัจจัยที่มีความเสี่ยง เช่น สถานภาพทางการเมือง อาชีพที่มีความเสี่ยง พื้นที่ และประเทศที่มี ความเสี่ยง วัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรม และพฤติกรรมของลูกค้า เป็นต้น กรณีพบว่าลูกค้าให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง หรือจงใจปกปิดข้อมูล ให้พิจารณาว่าลูกค้ามีความเสี่ยง โดยตรวจสอบ และยุติความสัมพันธ์การทำธุรกรรมกับลูกค้าโดยห้ามเปิดเผย หรือกระทำการใดให้ลูกค้าทราบ เกี่ยวกับการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงลูกค้า

4. ผู้ประกอบการร้านทอง ต้องจัดทำเอกสารนโยบายป้องกันการฟอกเงินเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ประจำร้าน โดย ประธานกรรมการ หรือ ผู้มีอำนาจสูงสุดของบริษัท ต้องลงนามในเอกสาร และประกาศเป็นนโยบายให้ เจ้าหน้าที่ และทุกคนในร้านรับทราบ และปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว

5. ผู้ประกอบการร้านทอง ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎหมาย ปปง. อย่างน้อย 10 ชั่วโมง พร้อมทั้งวัดผล ติดตามประเมินผลผู้ผ่าน การอบรม และจัดให้ผู้ได้รับการฝึกอบรมดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ในการจัดทำรายงาน หรือควบคุมการจัดทำรายงาน การจัดให้ลูกค้าแสดงตน และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้ถูกต้องตาม พรบ. และต้องจัดให้ผู้ ผ่านการอบรมตามระเบียบนี้ เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อทบทวนทุก 2 ปี