คร่ำทอง

15 / 07 / 2562 11:51

การตกแต่งลวดลายบนพื้นโลหะเพื่อให้ของใช้ธรรมดากลายเป็นงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า นอกจากงาน ถมเงิน ถมทอง แล้วก็มี งาน “คร่ำ”ที่ถือเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่หาชมได้ยากเพราะอาจจะอยู่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของคนทั้งไปเพราะข้าวของเครื่องใช้ที่มีการคร่ำทอง โดยมากเป็นของใช้ส่วนพระองค์ หรือใช้เฉพาะในราชสำนักจนทำให้หลายคนไม่รู้จัดโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่โชคดีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงโปรดเกล้าฯให้สืบทอดงานช่างแขนงนี้ไว้ที่โครงการศิลปาชีพ สวนจิตรลดาทำให้งานคร่ำยังไม่สูญหายไป

งานคร่ำ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Inlay หมายถึง การใช้ทองคำ หรือเงิน หรือนาก ฝังเป็นลวดลายลงไปบนโลหะประเภทเหล็ก ถ้าใช้ทองคำฝังลงไปเรียกว่า การคร่ำทอง ถ้าฝังด้วยเส้นเงินเรียกว่า  การคร่ำเงิน ถ้าฝักด้วยนากเรียก คร่ำนาก  เป็นต้นโดยช่างหัตถศิลป์จะใช้เครื่องมือสกัดพื้นโลหะให้เป็นลวดลายแล้วนำเงิน หรือทองคำ หรือนากที่รีดเป็นเส้นลวด หรือแถบบางๆ ฝังลงไปในร่อง จากนั้นจะใช้สิ่วหน้าเล็กตอกย้ำฝังเส้นลวดทอง หรือลวดเงิน ลงไปในเนื้อเหล็กแล้วขัด  ศัพท์ทางช่างเรียกว่า กวดผิวให้เรียบก็จะเกิดลวดลายจากสีของโลหะที่ต่างกัน ตามลวดลายที่สลักและฝังโลหะไว้เกิดเป็นงานศิลปที่วิจิตรงดงามตามต้องการ

เครื่องใช้ที่จะตกแต่งด้วยวิธีคร่ำ ส่วนใหญ่เป็นของที่ทามาจากเหล็ก เช่น ตะบันหมาก กรรไกรหนีบหมาก หัวไม้เท้า กรรไกรตัดผม ไปจนถึงเครื่องราชูปโภค เครื่องเหล็กซึ่งนิยมตกแต่งลวดลายด้วย การคร่ำเงิน คร่ำทอง หรือคร่ำนาก มักเป็นเครื่องราชศัสตราวุธ เช่น พระแสงดาบ พระแสงหอก พระแสงง้าว ขอพระคชาธาร พระแสงปืน ตลอดจนเครื่องใช้ในการมงคลต่างๆ

คร่ำ เป็นงานหัตถศิลป์ที่ทำกันมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า มีต้นกำเนิดมาจากเปอร์เซียโดยช่างทองกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นก่อน ซึ่งยังคงเป็นวิธีการของช่างโลหะในแถบตะวันออกกลางที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ส่วนการทำเครื่องคร่ำของไทย บางกระแสสันนิษฐานว่า ได้รับการสืบทอดวิชามาจากชาวอาหรับ ซึ่งเดินเรือจากตะวันออกกลาง เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย สมัยกรุงศรีอยุธยา บางกระแสก็ว่า การทำคร่ำถือกำเนิดที่ประเทศแถบเปอร์เซีย แล้วค่อยแพร่หลายไปสู่ประเทศจีน เขมร ลาว และภาคใต้ของไทย เช่น เมืองปัตตานี แต่ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยใด กระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขุนสารพัดช่าง ข้าราชการกรมวังนอก ได้ร่ำเรียนศิลปะนี้มาจากครูช่างชาวเขมรที่เข้ามาสอนในไทย ต่อมา นายสมาน ไชยสุกุมาร บุตรชายของขุนสารพัดช่าง ได้สืบทอดศิลปะนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไปนัก
ปัจจุบันงานคร่ำ มิได้มีอยู่แต่เฉพาะในศาสตราวุธเท่านั้น แต่ยังได้รับการประยุกต์ดัดแปลงทำเป็นสิ่งของสวยงามต่างๆตามสมัยนิยมเช่น เครื่องประดับ จำพวกแหวน กำไลข้อมือ ต่างหู ทับทรวง สายสะพาย ล็อกเกต หรือเครื่องดนตรี อย่างเช่น ด้ามซอ เป็นต้น