ชิ้นส่วนกะโหลกพระพุทธเจ้าในหีบทองคำ ที่หนานจิง

02 / 08 / 2562 12:49

วารสาร Chines Cultural Relics รายงานการค้นพบชิ้นส่วนกะโหลกและมีข้อความจารึกไว้ว่าเป็นของพระพุทธเจ้า บรรจุอยู่ในหีบทองคำ ที่หนานจิง นับป็นการค้นพบที่สำคัญชิ้นหนึ่งของนักโบราณคดี แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นชิ้นส่วนกะโหลกของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่
ทีมนักโบราณคดีพบห้องใต้ดินใต้ซากเจดีย์ที่วัดเปาอันใหญ่ในเมืองหนานจิงหีบ ภายในมีหีบศิลาขนาดใหญ่ที่จารึกข้อความว่าพระเจ้าอโศกกษัตริย์จากอินเดียได้ส่งชิ้นส่วนกะโหลก และอัฐิธาตุอื่นๆอีก 18 ชิ้นของพระพุทธเจ้ามายังประเทศจีน เมื่อกว่า 2,200 ปีก่อน และเมื่อเปิดหีบศิลาออกมา พบว่าภายในมีกล่องเหล็กบรรจุเจดีย์จำลองทำจากไม้จันทน์ เงิน และทองคำประดับด้วยอัญมณีและมีการสลักรายชื่อผู้บริจาค ภายในเจดีย์จำลองมีหีบที่ทำจากเงินสลักลวดลายเทพผู้พิทักษ์ และนางอัปสรา ภายในหีบเงินยังพบหีบทองคำขนาดย่อมลงมา บรรจุชิ้นส่วนกะโหลก และอัฐิธาตุอื่นๆ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นของ “พระพุทธเจ้า”
จารึกบนหีบศิลาระบุว่า มันถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเจินจง ( ค.ศ. 997-1022)แห่งราชวงศ์ซ่ง และแม้จะมีการระบุว่าชิ้นส่วนกะโหลกที่ถูกพบเป็นของพระพุทธเจ้า แต่นักโบราณคดีที่ทำการสำรวจและเผยแพร่การค้นพบในวารสาร Chines Cultural Relics ก็มิได้แสดงความเห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้ว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวจะเป็นของ “พระพุทธเจ้า” จริง มีมากน้อยเพียงใด
เนื้อหาตามจารึกบรรยายว่าหลังจาก “พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ร่างของพระองค์ถูกฌาปนกิจใกล้กับแม่น้ำหิรัญวดี  ประเทศอินเดีย ก่อนที่พระเจ้าอโศก (268-232 ก่อนคริสตกาล) จะนำอัฐิของพระพุทธองค์มาเก็บรักษาและตัดสินใจ “แบ่งออกเป็น 84,000 ส่วน” โดย “ดินแดนจีนได้รับมาทั้งสิ้น 19 ส่วน…รวมถึงชิ้นส่วนกะโหลกข้างขม่อมด้วย”
ในจารึกยังบอกด้วยว่า ชิ้นส่วนกะโหลกชิ้นนี้ถูกเก็บไว้ในวัดที่ถูกทำลายไปเมื่อ 1,400 ปีก่อน จากนั้นจักรพรรดิเจินจง ได้มีพระบัญชาให้สร้างวัดขึ้นมาใหม่เพื่อเก็บรักษาชิ้นส่วนสำคัญดังกล่าวพร้อมอัฐิชิ้นอื่นๆ โดยฝังไว้ในห้องใต้ดินของวัด
รายงานของ Live Science ระบุว่า นักโบราณคดีจากสถาบันโบราณคดีแห่งเมืองหนานจิงได้เริ่มทำการสำรวจห้องใต้ดินแห่งนี้เมื่อช่วงปี 2007-2010 ซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากสื่อตะวันตกมากนัก แต่ในประเทศจีนมีการรายงานเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย
ปัจจุบันอัฐิดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดชีเสีย ในมณฑลหนานจิง และเคยนำไปจัดแสดงที่ฮ่องกงและมาเก๊ามาแล้ว และมีรายงานว่า ผู้จัดงานสามารถขายบัตรเข้าชมได้มากถึง 140,000 ใบ เมื่อคราวนำไปจัดแสดงที่มาเก๊า เมื่อปี 2012
ทั้งนี้ รายละเอียดของการค้นพบดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นภาษาจีนในปี 2015 ในวารสาร Wenwu ก่อนแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่อีกครั้งในวารสาร Chinese Cultural Relics