ทองคำเปลวคือทองจริง ๆ หรือไม่ ?
18 / 04 / 2561 11:35
เมื่อเราไปไหว้พระตามวัดต่าง ๆ เราจะได้พบเห็นทองคำเปลว เป็นทองคำแผ่นเล็ก ๆ บาง ๆ ที่อยู่ในกระดาษทรงสี่เหลี่ยมขนาดย่อมภาษาอังกฤษเรียกตามลักษณะของทองที่เป็นแผ่นบาง ๆ ว่า Gold leaf หรือทองใบไม้ ทองคำเปลวนั้นเอาไว้สำหรับปิดองค์พระและใช้ตกแต่งของต่าง ๆ แต่หลาย ๆ คนก็เกิดความสงสัยกันว่า ทองคำเปลวนั้นใช่ทองจริงทองแท้หรือไม่ ทองคำเปลวแท้ที่จริงงแล้วทำมาจากอะไร
ทองคำเปลวที่เราได้เห็นกันนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นการนำทองคำแท้ ๆ มาตีแผ่เป็นแผ่นบางมากนอกจากนำมาใช้ปิดองค์พระพุทธรูปแล้วก็ยังนำมาปิดทำข้าวของเครื่องใช้มีค่าที่ต้องการตกแต่งให้สวยงาม นำมาตกแต่งขนมไทย ๆ เช่นขนมจ่ามงกุฎด้วย ทองคำเปลวแท้นั้นมีหลายเกรด แต่เกรดที่ดีเยี่ยมจะเป็นทองคำเปลวที่ทำมาจากทอง 22 กะรัต ซึ่งเป็นทองคำ 99.99% และมีทองคำเปลวอีกชนิดเรียกกันว่าทองเขียว เป็นทองคำเกรดด้อยกว่าคือทองคำ 97% ประกายทองจะเป็นเหลืองออกเขียว ทองคำบริสุทธิ์เหล่านี้เมื่อนำมาทำเป็นทองคำเปลวก็จะมีวิธีการทำเป็น 2 อย่างซึ่งมีราคาต่างกันคือ
1. ทองคัด เป็นการนำทองคำแท้มาหลอมและตีให้เป็นแผ่นเต็มขนาดตามที่ต้องการจากนั้นจึงจะนำมาตัดซอยให้ได้ขนาดที่เห็นเป็นแผ่นเล็ก ๆ นั่นเอง
2. ทองต่อ เป็นการนำเอาทองคำเปลวที่เป็นเศษมาต่อกันจนได้ขนาดที่ต้องการจะนำไปใช้ ทองต่อจะมีราคาที่ถูกกว่าทองคัด
นอกจากทองคำเปลวที่นำทองคำแท้บริสุทธิ์มาทำแล้ว ปัจจุบันด้วยมูลค่าของทองที่มีราคาแพงทำให้มีการคิดค้นทองคำเปลวแบบวิทยาศาสตร์ขึ้นใช้แทน ทองเปลววิทยาศาตร์จะทำจากสารคล้ายกับตะกั่วนำมาผสมกับสีมีลักษณะมองผิวเผินจะเหมือนกับทองคำเปลวแท้เพราะสีเหลืองสุกปลั่งเช่นเดียวกัน แต่หากสังเกตให้ดีจะมีความแตกต่างคือ ทองคำเปลวแท้จะมีประกายที่สวยสว่างกว่า เมื่อนำไปปิดองค์พระหรือวัสดุต่าง ๆ จะติดแน่นติดได้ง่ายกว่า อีกทั้งถ้าพิสูจน์ด้วยการกดลงที่นิ้วจะแตกตัวและติดอยู่กับผิวเราได้ง่าย ส่วนทองเปลววิทยาศาสตร์จะนำไปติดองค์พระหรือวัตถุต่าง ๆ ได้ยากกว่า ต้องติดอย่างเบามือ เนื้อทองวิทยาศาสตร์ มีความยืดหยุ่นมากกว่าเมื่อกดลงที่นิ้วจะไม่แตกตัวง่ายอย่างทองเปลวจริง สำหรับทองเปลวที่เป็นทองแท้ เมื่อติดไปยังองค์พระจนมีความหนามาก ๆ บางวัดจะลอกทองนั้นออกมาและนำไปหลอมเป็นทองก้อนและขายเพื่อนำเงินมาบำรุงวัดได้ วัดบางแห่งมีขายเฉพาะทองเปลวแท้ แต่วัดบางวันก็มีทั้งสองอย่างขายผสมกันไป ทองเปลวที่เป็นทองแท้ยังนำมาใช้ในวงการแพทย์และใช้ในด้านความงามเช่นนำมาเป็นส่วนผสมบำรุงผิวอีกด้วย