การออกตรารับรองมาตรฐานโลหะมีค่า(ทองคำ)

02 / 08 / 2562 12:56

การประทับตรารับรองมาตรฐานโลหะมีค่าหรือ Hallmark เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างการยอมรับถึงมาตรฐานในระดับสากล การใช้ตรารับรองมาตรฐานเครื่องประดับมีค่า เริ่มต้นที่สหราชอาณาจักรช่วงต้นศตวรรษที่ 14 โดยการรวมตัวกันของกลุ่มช่างทองในเมืองลอนดอนที่ใช้ชื่อว่า“The Goldsmith’s Company”  หรือ “London Assay Office” ในปัจจุบัน บริษัทได้เริ่มทำการประทับตรา (Mark) เพื่อรับรองมาตรฐานเครื่องประดับทองซึ่งมาตรฐานดังกล่าวถูกพัฒนามาเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่าในสหราชอาณาจักรเรียกว่า“Hallmark” โดยแนวคิดเรื่องการประทับตรารับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่าได้ถูกนำไปใช้ในอีกหลายประเทศในทวีปยุโรปและในอีกหลายประเทศในทวีปอื่น ๆ 

ประเทศในทวีปยุโรปส่วนใหญ่มีการตรากฎหมายว่าด้วยการรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า และมีหน่วยงานเฉพาะตามกฎหมายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและประทับตรารับรองที่เครื่องประดับทุกชิ้น โดยได้กำหนดชุดของตรารับรองมาตรฐานไว้แตกต่างกันคือ

- ตราประจำหน่วยงานรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า (National Assay Office Mark) เป็นตราประจำหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจรับรองมาตรฐานของประเทศนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานเดียวทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร กฎหมายระบุให้บริษัทเอกชน 4 แห่ง ทำหน้าที่ตรวจรับรองมาตรฐานโดยแต่ละแห่งมีตรารับรองมาตรฐานของตัวเอง โดยกฎหมายระบุให้ทั้ง 4 ตรา เป็นตรารับรองมาตรฐานระดับประเทศของสหราชอาณาจักร

- ตราบ่งชี้ความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะ (Fineness Mark) เป็นตราประทับระบุตัวเลขของความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะมีค่า ส่วนใหญ่นิยมแสดงเป็นตัวเลขสามหลัก แสดงความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะถึงทศนิยมตำแหน่งที่หนึ่ง เช่น เครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองร้อยละ 99.9 ขึ้นไป จะประทับตัวเลข “999” ลงไป โดยตัวเลขจะอยู่ในกรอบพื้นหลังที่มีรูปทรงเรขาคณิตที่แตกต่างกัน เพื่อแสดงเนื้อโลหะมีค่าที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องประดับทองใช้กรอบรูปแปดเหลี่ยม เครื่องประดับเงินใช้กรอบรูปวงรี เป็นต้น

- ตราประจำตัวของผู้ผลิต (Responsibility Mark) เป็นตราประจำบริษัท หรือโรงงานผู้ผลิต หรืออาจเป็น
ตราประจำของบริษัทผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายเครื่องประดับโลหะมีค่าก็ได้ โดยตราดังกล่าวต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐานของประเทศนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้ผลิตในกรณีที่ตรวจพบว่า เครื่องประดับมีค่าความบริสุทธิ์ตํ่ากว่าที่ระบุไว้บนตราบ่งชี้ความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะ

- ตราระบุปีที่ตรวจสอบ (The Year Mark) เป็นตราที่หน่วยงานผู้ตรวจสอบกำหนดเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงปีที่ตรวจสอบเครื่องประดับนั้น ๆ ส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ A-Z เมื่อใช้ตัวอักษรครบแล้วจะมีการเปลี่ยนกรอบพื้นหลังตัวอักษรเพื่อสร้างความแตกต่าง ทั้งนี้ ตราระบุปีที่ตรวจสอบมีการใช้ในเฉพาะบางประเทศเท่านั้น
 
สำหรับประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้มีการจัดทำระเบียบว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานเครื่องประดับโลหะมีค่า ซึ่งเป็นระบบสมัครใจเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และเพื่อเป็นส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้กับประเทศ