เพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง

02 / 08 / 2562 12:59

ยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง ส่วนเนื้อร้องนั้นนายจำนงราชกิจ หรือจรัล บุณยรัตพันธุ์ ประพันธ์ขึ้นตามที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่าง โดยพระองค์พระราชทานเพลง ยูงทอง ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506

แต่เดิมนั้นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว ซึ่งเป็นการประพันธ์ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อปีพ.ศ.2477 เมื่อเป็นต้นมา จนพ.ศ. 2504 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และการเมืองกลุ่มหนึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อคราเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504 พระองค์รับสั่งว่า จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยพระราชทานให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ขณะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน “วันทรงดนตรี” ก็ได้ทรงบรรเลงทำนองเพลง ที่พระราชนิพนธ์ไว้ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมาได้มีการเรียกชื่อเพลงที่พระราชานิพนธ์นี้ว่า เพลงยูงทอง

ชื่อ "ยูงทอง" มาจากต้นหางนกยูงฝรั่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกไว้ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 ต้น ซึ่งในเวลาต่อมาต้นยูงทองก็ได้กลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

วันทรงดนตรี เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จ พระราชดำเนินตามคำกราบบังคมทูลเชิญของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อทรงดนตรีและทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ก็จะโดยเสด็จพระราชดำเนิน และทรงร่วมในการแสดงดนตรีด้วย
สำหรับวัน “วันทรงดนตรี” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากการทรงดนตรีแล้วใน
หลวงรัชกาลที่ 9 ยังถือโอกาสนี้เยี่ยเยียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการส่วนพระองค์ พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาทและทรงอำนวยพรแก่นักศึกษาในช่วงก่อนสอบ โดยทรงโปรดเกล้าฯให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าเฝ้าฯทูลละอองธุลีพระบาทรับฟังดนตรีอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้พระองค์เสด็จมาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรามศาสตร์จำนวน 11 ครั้ง เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2506 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  โดยมีศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญถวายงานเป็นโฆษกทุกปี

จากการบอกเล่าของนักศึกษายุคนั้น “วันทรงดนตรี” เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง หลายคนพูดว่าเป็นวันที่ “มีความสุขมาก” “รอคอยกันทุกปี” เป็นที่ “ติดตาตรึงใจ” นอกจากพระปรีชาสามารถทางดนตรีที่ประจักษ์แล้ว ที่มีความหมายยิ่งคือ บรรยากาศของงานที่มีความสนุกสนานและอบอุ่น  นักศึกษาไปร่วมกันอย่างล้นหลาม ดร.เสรี วงศ์มณฑาเล่าถึงบรรยากาศว่า “โอ้โหย สนุกสนานมาก เราไปอออยู่หน้าประตูตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด…ก็ต้องแย่งกัน เข้าไปรอต้องพกเสบียงเข้าไป คือได้ที่นั่งถ้าลุกก็เสียม้า …ครั้งหนึ่งได้นั่งแทบพระบาทเลยคือแย่งที่นั่งได้บนเวที”

เหล่านี้แสดงถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างพสกนิกรไทยกับ“พ่อหลวงของแผ่นดิน” ยังตราตรึงในหัวใจไม่รู้ลืม