วัดทองแห่งเกียวโต

30 / 08 / 2562 11:30

วัดทอง เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียกชื่อวัดคินคะคุจิ หรือที่คนคนท้องถิ่นเรียกว่าวัดโระคุงอนจิที่แปลว่าวัดสวนกวางเป็นสัญลักษณ์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเกียวโต ด้วยมีสถาปัตยกรรมที่งดงามล้ำค่าและได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรกดโลกในปีค.ศ.1994

วัดทอง ตั้งอยู่ทางเหนือของเกียวโต เป็นวัดนิกายเซน เดิมสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักหลังสละราชสมบัติของโชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึ และเพื่อรับรองแขกระดับสำคัญๆ ภายหลัง โชกุนอะชิคางะ เสียชีวิตท่านได้อุทิศที่พักแห่งนี้ให้ให้กับนิกายเซนลัทธิรินไซ ภายหลังจากที่ท่านสิ้นอายุขัยในปี 1408 คินคะคุจิเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างวัดกินคะคุจิ (Ginkakuji) หรือวัดเงิน ซึ่งก่อสร้างโดยหลานของโยชิมิทสึ นั่นคือโชกุนอะชิคางะ โยชิมาสะ (Ashikaga Yoshimasa) ในอีกสองสามทศวรรษถัดมา โดยตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเมือง
 
สาเหตุที่คนเรียกว่าวัดทองนั้น ก็เพราะตัวอาคารตกแต่งด้วยทองคำเปลวจึงทำให้มีสีทองเหลืองอร่ามตั้งโดดเด่นอยู่กลางน้ำ โดยให้หันหน้าไปทางสระน้ำขนาดใหญ่ และเป็นอาคารเพียงหลังเดียวที่เหลืออยู่ในหมู่อาคารที่โยชิมิทสึใช้เป็นบ้านพักในบั้นปลายชีวิต อาคารหลังนี้เคยเสียหายจากไฟไหม้ในช่วงสงครามมาหลายครั้ง แต่ก็มีการสร้างขึ้นใหม่มาโดยตลอด ซึ่งไฟไหม้ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1950 จากฝีมือของพระที่คลั่งในความงามของวัดทองจนต้องการเผาตัวเองไปพร้อมกับวัด อาคารที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1955

คินคะคุจิ สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถึงความหรูหราของวัฒนธรรมคิตายาม่า ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงที่มั่งคั่งของเกียวโตในสมัยของโยชิมิทสึ ในแต่ละชั้นของอาคารสร้างขึ้นโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน โดยในชั้นแรกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบชินเด็น  ซึ่งใช้สำหรับการก่อสร้างอาคารของราชวังในสมัยเฮอัน  โดยเสาไม้ธรรมชาติและกำแพงปูนปลาสเตอร์สีขาวของชั้นล่างนี้ ช่วยขับให้ชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นสีทองดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ภายในตัวอาคารชั้นหนึ่งประดิษฐานรูปปั้นพระศากยมุนี หรือพระพุทธเจ้าผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธตามประวัติศาสตร์ และรูปปั้นของโชกุนอะชิคางะ โยชิมิทสึ อย่างไรก็ตาม อาคารนี้ไม่เปิดให้คนนอกเข้าชม 

ชั้นที่สองของอาคารสร้างขึ้นโดยใช้แนวสถาปัตยกรรมบัคเค ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการสร้างที่อยู่อาศัยของซามูไร  ภายนอกได้รับการตกแต่งโดยการปิดแผ่นทองคำเปลวจนเป็นสีทองสุกอร่ามทั่วชั้นอาคาร ภายในประดิษฐานรูปปั้นพระโพธิสัตว์คันนอน หรือพระแม่กวนอิมปางประทับนั่ง รายล้อมด้วยรูปปั้นของท้าวจตุมหาราช ทั้งสี่พระองค์ แต่ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมสักการะ ชั้นที่สามซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ใช้สถาปัตยกรรมแบบนิกายเซนของจีน และปิดทองทั้งภายนอกและภายใน ส่วนบนยอดอาคารมีรูปปั้นหงส์  ทองคำตั้งอยู่

ช่วงที่วัดทองสวยงามมากที่สุดคือช่วงใบไม้เปลี่ยนสี ราวปลายเดือนพฤศจิกายน