โอกาสทองของ อัญมณีและเครื่องประดับ(ทอง)ในตลาด GCC

30 / 08 / 2562 11:41

กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับหรือที่เรียกสั้นๆว่าGulf (GCC)  เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง โดยในปี 2562 กาตาร์เป็นชาติที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดถึง 70,780 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ 40,711 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน  จึงถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะตลาดของอัญมณีและเครื่องประดับทองของไทย

ในแต่ละปีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับเฉลี่ยที่ราว 35,834.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนประเทศอื่นๆ ในแถบนี้แม้จะปรากฏตัวเลขการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างเป็นทางการไม่สูงนัก แต่สามารถอนุมานได้จากปริมาณและมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีตัวเลขการส่งออกต่อ (Re-Export) แฝงอยู่ โดยสถิติการนำเข้าอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่คือเครื่องประดับทอง ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป และเพชรก้อน

ทั้งนี้รูปแบบการบริโภคเครื่องประดับของประเทศต่างๆ ของแถบตะวันออกกลางมีความคล้ายคลึงกัน โดยชาวอาหรับพื้นเมืองนิยมเครื่องประดับทองคำแบบโบราณ 21 กะรัต แต่หากเป็นเครื่องประดับสมัยใหม่จะนิยมทองคำ 18 กะรัต ชาวเอเชียใต้นิยมทองรูปพรรณสไตล์อินเดีย ส่วนชาวตะวันตกที่เข้ามาทำงาน และท่องเที่ยวในแถบนี้นิยมเครื่องประดับทองคำสมัยใหม่ 14 กะรัต และ 18 กะรัต ส่วนตลาดบนของชายมุสลิมนิยมทองคำขาวประดับเพชร และพลอยเจียระไน

อย่างไรก็ตามการเจาะตลาด GCC โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การประทับตรารับรองมาตรฐานโลหะมีค่า หรือHallmark เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ส่งออกต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง หรือเครื่องประดับเงินที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทย เพื่อยกระดับและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

และเพื่อรักษามาตรฐานของความเป็น City of Gold ของดูไบ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทองคำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ทั้งเครื่องประดับทอง รวมทั้งทองคำแท่ง จะต้องใช้วัตถุดิบทองคำจากเหมืองที่มีความน่าเชื่อถือ มีการได้มาของวัตถุดิบที่ปราศจากความขัดแย้ง ไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวยังคงเป็นไปโดยความสมัครใจ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าหากผู้ค้าทองคำรายใหญ่ของประเทศให้ความร่วมมือรายย่อยก็จำต้องปฏิบัติตาม และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศในที่สุด ซึ่งในระยะแรกอาจส่งผลให้อุปทานทองคำลดต่ำลงและส่งผลต่อราคาวัตถุดิบได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)