พระราชสาส์นทองคำ จากสยาม ถึงฝรั่งเศส

30 / 08 / 2562 15:05

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1861 (พ.ศ. 2404) คณะทูตจากสยาม นำโดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อัญเชิญพระราชสาส์นทองคำที่มีความยาว  40 เซนติเมตรและเครื่องราชบรรณาการจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไปมอบแด่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 และพระราชินี Eugenie ณ พระราชวังฟงแตนโบล (Chateau de Fontainebleau) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 55 กิโลเมตร  อันถือเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ

พระราชสาส์นนี้ทำจากแผ่นทองคำยาว 40 ซม. ออกแบบเพื่อพับบรรจุไว้ในกล่อง บนเนื้อทองมีข้อความสลักไว้ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดถอดรหัสได้ ฌอง เลออง เจอโรม (Jean Leon Gérôme) ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงเป็นผู้วาดภาพสีน้ำมันบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ ทั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเคยส่งพระราชสาส์นในลักษณะเดียวกันนี้ไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในช่วงเวลาต่างๆ ได้แก่ ค.ศ. 1680, 1685, 1687 และ1699 แต่ได้สูญหายไปหมดแล้ว ดังนั้น พระราชสาส์นฉบับที่ยังหลงเหลืออยู่นี้ จึงเป็นเอกสารสำคัญอย่างยิ่ง

หอจดหมายเหตุทางการทูต (Les Archives Diplomatiques) กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสได้ดำเนินการอนุรักษ์ซ่อมแซมพระราชสาส์นทองคำในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากถือเป็นเอกสารโบราณล้ำค่า โดยการอนุรักษ์นั้นได้มีการทำความสะอาด การแปล และสแกนข้อความดังกล่าว เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปแบบดิจิตอล

พระราชสาส์นทองคำนี้เคยถูกอัญเชิญไปจัดแสดงในนิทรรศการ “ศิลปะแห่งสันติภาพ” (L’Art de la Paix) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ “Petit Palais” ในกรุงปารีส เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและฝรั่งเศสครบรอบ 160 ปี (ค.ศ.1856-2016)

ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเริ่มเมื่อปี ค.ศ.1856 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ ส่วนก่อนหน้านั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาเนืองๆ โดยในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1686 คณะราชทูตสยามนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางโดยเรือถึงเมืองแบรสต์ (Brest) แคว้นเบรอตาญ (Bretagne) ก่อนที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

เหตุการณ์แห่งความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญครั้งนี้ มีประจักษ์พยานด้วยการที่ฝรั่งเศสเรียกถนนแซงต์ ปิแอร์ (St.Pierre) และถนนหลายสาย ซึ่งคณะราชทูตใช้เป็นทางผ่าน ทั้งในกรุงปารีส (Paris) เมืองมาร์แซย์ (Marseille) เมืองแบรสต์ (Brest) และเมืองโลรียองต์ (Lorient) ว่า ถนนสยาม (Rue de Siam)