อำเภอบ่อทอง ครั้งหนึ่งเคยมีทองคำ

17 / 09 / 2562 16:07

บ่อทองเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี แยกออกมาจากอำเภอพนัสนิคม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ซึ่งชื่ออำเภอบ่อทอง หรือ บ้านบ่อทอง นั้น มรที่มาจากเมื่อพ.ศ. 2460 เคยมีการขุดพบแร่ทองคำในพื้นที่บริเวณนี้ โดยชาวกุหล่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยบริเวณที่ค้นพบแร่ทองคำ และตั้งชื่อว่า "บ้านบ่อทอง" ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน  (ชาวกุหล่าคนไทยเรียก ไทยใหญ่ คนเขมรเรียก  กาลา)  ดังนั้น แร่ทองจึงปรากฏอยู่ในคำขวัญ ของอำเภอบ่อทองที่ว่า "เมืองเกษตรกรรม ถ้ำเขางดงาม น้ำตกเขาใหญ่ ผลไม้รสดี มีแหล่งแร่ทอง นครของพญาเร่"

ตามตำนานเชื่อว่าบ่อทอง เป็นเมืองเก่าแก่ของเจ้าผู้ครองนคร ชื่อพญาเร่ ซึ่งมีอายุราว 1,300 ปี เป็นเจ้าเมืองผู้มีคุณธรรมที่คอยปกป้องคุ้มครองพื้นที่แห่งนี้ พญาเร่จึงถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์คู่กับชาวบ่อทอง ที่ทุกคนให้ความเคารพสักการะ และเชื่อว่าพญาเร่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ แคล้วคลาดจากภยันตราย เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา

เมืองพญาเร่นี้ สัญนิฐานว่า เคยเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองมาแต่ครั้งยุคทวารวดี อยู่ห่างจากเมืองพระรถ (บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม) ประมาณ 32 กิโลเมตร  ยังมีร่องรอยของผังเมืองพญาเร่ ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน (อยู่ห่างจากตลาดอมพนมไปประมาณ 6 กิโลเมตร)  ผังเมืองเป็นวงรีสองชั้น  ชั้นนอกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,100 เมตร ยังคงมีคูเมือง และคันดินให้เห็นอยู่ทางด้านเหนือ ส่วนเมืองชั้นในมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 600 เมตร ยังคงมีกำแพงเมืองสูงประมาณ 1 เมตร หลงเหลือให้เห็นอยู่ ภายในเมืองพบเพียงเศษเครื่องปั้นดินเผาเล็กน้อย และไม่พบศาสนสถานใดๆ

พื้นที่โดยทั่วไปของเมืองพญาเร่ในปัจจุบันได้ถูกไถคราดเพื่อปรับพื้นที่ สำหรับทำการกสิกรรม แต่จากร่องรอยการไถคราด ก็ไม่ปรากฏพบเศษอิฐ หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่หนาแน่น เป็นกลุ่มให้เห็นแต่อย่างใด จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าบริเวณที่เป็นเมืองพญาเร่ อาจไม่ใช่บริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากนัก จึงไม่มีการพบซากโบราณสถาน หรือศาสนสถานที่ชัดเจน เช่นเดียวกันกับชุมชนแห่งอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามจากรูปแบบของผังเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับ รูปแบบของเมืองโบราณที่พบจากแหล่งต่างๆ แล้ว เมืองพญาเร่นี้ก็ยังอยู่ในกลุ่มของชุมชนโบราณแบบทวารวดีนั่นเอง

ปัจจุบันอำเภอบ่อทอง มี 6 ตำบล , 41 หมู่บ้าน ประกอบด้วยตำบล บ่อทอง , วัดสุวรรณ , บ่อกวางทอง , ธาตุทอง , เกษตรสุวรรณ และตำบลพลวงทอง มีประชากรราว 38,000 คน  อาชีพหลักคือการทำสวน ทำไร่  ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง มะม่วงหิมพานต์ และผลไม้ชนิดต่าง ๆ