การหาแร่ทองคำ ในธรรมชาติ

25 / 09 / 2562 14:06

“ทองคำ” เป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  การตรวจหาแร่ทองคำสามารถทำได้ทั้งการดูได้ด้วยตาเปล่า และการตรวจสอบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยแร่ทองคำที่พบตามธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะเป็นเกล็ด เป็นเม็ดกลม หรือก้อนใหญ่ และมีบ้างที่มีลักษณะเป็นรูปผลึกแต่ไม่มาก ซึ่งหากเป็นผลึกสีเหลืองอ่อนจางๆก็มักมีเงินปะปนอยู่มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

การเกิดแร่ทองคำมีได้ ๒ แบบ คือ แบบปฐมภูมิ คือการพบทองคำในลักษณะฝังหรือเป็นสายแร่ในเนื้อหินซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ส่วนใหญ่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะทราบปริมาณของแร่ทองคำในเนื้อหิน จากการเก็บตัวอย่างหิน และส่งวิเคราะห์ทางเคมีเท่านั้น และการเกิดแร่ทองคำ แบบทุติยภูมิ คือ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำเป็นส่วนประกอบ โดยทองคำจะหลุดออกมาเป็นเม็ดกลม หรือเกล็ดเล็กๆ และพบในแหล่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งแร่แบบปฐมภูมิ โดยสะสมตัวในที่เดิม หรือถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ ในบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย ในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำใหญ่ ชาวบ้านจะนำดินหรือตะกอนทางน้ำมาร่อน และเลียง คือ ไล่สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ออกจากแร่ เพื่อค้นหาเกล็ดหรือเม็ดทองคำ เป็นต้น

ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว ทองคำเป็นส่วนประกอบของทำธรรมที่อยู่ในหิน ดิน หรือแม้แต่น้ำทะเลโดย
หินอัคนีมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ  ๐.๐๐๓๕  ส่วนในล้านส่วน
หินชั้นมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ  ๐.๐๔๐๓  ส่วนในล้านส่วน
หินแปรมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ  ๐.๐๑๐๙  ส่วนในล้านส่วน
น้ำทะเลมีทองคำเป็นส่วนประกอบประมาณ  ๐.๐๐๐๐๔  ส่วนในล้านส่วน

วิธีการตรวจดูแร่ทองคำนั้น สามารถดูด้วยตาเปล่าได้ ถ้าเป็นทองแท้จะมีความเหลืองวาวโลหะ และสามารถตรวจสอบได้ด้วยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้กรดกัดทอง ซึ่งทองคำจะไม่ละลายในกรดธรรมดาทั่วไปที่สามารถละลายแร่ธาตุอื่นๆได้

ทั้งนี้ คุณสมบัติของทองคำที่สำคัญคือ มีน้ำหนักมากเพราะมีค่าความถ่วงจำเพาะสูง 12 – 19 มีความแข็งประมาณ 2 ทำให้ทุบเป็นแผ่นบางๆ ได้ง่าย ดึงและตัดเป็นเส้นได้ และจุดหลอมเหลวสูง1,064 องศาเซลเซียส  มีจุดเดือด 2,970 องศาเซลเซียส เป็นโลหะที่มีค่าความเหนียวและขึ้นรูปได้ สามารถยืดขยายเมื่อถูกตีหรือรีดในทุกทิศทาง โดยไม่ปริแตก ทองคำบริสุทธิ์ขนาด 1 ออนซ์สามารถดึงเป็นเส้นลวดยาวได้ถึง 80 กิโลเมตร ถ้าตีเป็นแผ่นจะได้แผ่นบางเกินกว่า 1/300,000 นิ้ว มีความกว้าง 9 ตารางเมตร

ทองคำสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยการขึ้นรูปได้หลายๆ ครั้ง โดยไม่เสื่อมสภาพ มีความคงทนไม่ขึ้นสนิม ไม่ผุกร่อน ไม่หมอง แม้ว่าจะผ่านหลายพัน ปีก็ตาม อีกทั้งทองคำบริสุทธิ์นั้นไม่ว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้ทนต่อการผุกร่อนและไม่เกิดสนิมกับอากาศ แต่จะทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางอย่าง เช่น คลอรีน ฟลูออรีน น้ำประสานทอง

ข้อควรระวังคือทองคำนั้นจะดูคล้ายกับแร่ไพไรท์และคาลโคไพไรท์มาก เพราะมีสีคล้ายคลึงกัน แต่แร่ทั้งสองชนิดนี้จะเปราะร่วนง่ายกว่าทอง เบากว่าทอง และละลายในกรดไนตริกได้ จึงต้องระวังและตรวจสอบให้ดี

ทั้งนี้มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากทองคำมากว่า 6,000 ปีแล้ว แร่ทองคำจึงกลายเป็นสินทรัพย์ทางธรรมชาติที่ทั่วโลกต้องการ เพราะแสดงถึงความมั่งคั่ง มั่นคง เพราะทองคำใช้เป็นทุนสำรองทางการเงินในหลายประเทศ โดยทองคำบริสุทธิ์จะเท่ากับ 24 กะรัต หรือ 100 ไฟน์ ส่วนทอง 14 กะรัต (14K) 18  กะรัต(18K) หมายถึงโลหะผสมที่มีทองคำแค่14 ส่วน หรือ 18 ส่วน อีก 10 ส่วน หรือ 6 ส่วน คือส่วนผสมจากโลหะอื่นๆ เช่น ทองแดง นิกเกิล เงิน เพื่อให้ทองมีความแข็งขึ้น