พระมาลาเบี่ยง รัชกาลที่๑ กับพระพุทธรูปทองคำ

03 / 10 / 2562 17:16

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมาลาเบี่ยงขึ้นองค์หนึ่ง เลียนอย่างพระมาลาเบี่ยงของสมเด็จพระนเรศวรครั้งทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพในสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งพระมาลาเบี่ยงองค์ใหม่นี้ ทำด้วยไม้ไผ่สาน ลงรักทั้งด้านในด้านนอกเป็นสีดำมัน มีปีกโดยรอบด้านในมีรังสานด้วยไม้ไผ่อย่างรังงอบที่ใช้สำหรับสวม ที่ขอบพระมาลาประดับด้วยพระพุทธรูปยืนปางอภัยทานองค์หนึ่ง กับพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิอีก ๒๑ องค์ ทุกองค์ทำด้วย “ทองคำ”

พระพุทธรูปทองคำ 21 องค์บนพระมาลาเบี่ยงนี้ มีบันทึกไว้ว่า มีคนทอดแหได้ในลำน้ำมูล แขวงเมืองนครราชสีมา พระยานครราชสีมา จึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธรูปเหล่านี้ประดิษฐานรอบพระมาลาเบี่ยงที่ทรงสร้างขึ้น

พระพุทธรูปประทับยืนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพักตร์ค่อนข้างกลม แย้มสรวล ทรงศิราภรณ์เป็นชฎามุกุฏซ้อนกันสามชั้น ทรงกุณฑลรูปตุ้ม ทรงกรองศอ พาหุรัด ทองกร และทองพระบาทจำหลักลาย รัดประคดประดับเครื่องเพชรพลอย มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับ มีชายภูษารูปหางปลาห้อยย้อยลงมาเบื้องหน้าทับบนอันตรวาสก

สำหรับพระพุทธรูปประทับนั่งนั้น มีพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปประทับยืน ทรงศิราภรณ์และเครื่องอาภรณ์ละม้ายกับพระพุทธรูปประทับยืน เพียงลดรายละเอียดบางอย่างลง ประทับนั่งในท่าวีราสนะ พระชงม์ขวาซ้อนเหนือพระชงฆ์ ในพระหัตถ์นั้นมีสิ่งของบางอย่างทรงถืออยู่ ซึ่งอาจเป็นหม้อน้ำมนต์ อันอาจหมายถึงพระพุทธเจ้าไภษัชคุรุไวฑูรยประภาอันเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นประดุจแสงสว่าง เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาจนถึงในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยเหตุที่ศิลาจารึกในรัชกาลของพระองค์กล่าวว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอโรคยาศาลาเหล่านี้คงสร้างขึ้นทั้งในประเทศกัมพูชาและในดินแดนของราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน

อนึ่งพระมาลาเบี่ยง เป็นหนึ่งในอนุสรณ์ในบรมราชานุภาพของสมเด็จพระมหาราช ที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ เชนเดียวกับพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงของ้าวเจ้าพระยาสนพลพ่าย และพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง  เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ที่ได้เข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อๆมา แต่ได้สูญหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๓๑๐ จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปูชนียวัตถุอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ก็ได้กลับมาสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมาจนถึงครั้งล่าสุดในราชกาลที่๑๐