ปิ่นปักผม เป็นมากกว่าเครื่องประดับ

13 / 11 / 2562 15:00

ปิ่นปักผม เป็นเครื่องประดับซึ่งเป็นที่นิยมของสตรีเอเชียมาตั้งแต่อดีต มี หลักฐานการขุดพบปิ่นปักผมในสุสานโบราณเป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและประเทศไทย  มีทั้งที่ทำจากกระดูก เหล็ก สำริด เงินและทอง ปิ่นปักผมที่พบบางอันมีลวดลายเรียบง่าย แต่บางอันก็มีการสลักลวดลายที่งดงามวิจิตรแตกต่างกันไป แต่ว่าจะถูกค้นพบที่ประเทศไหน ปิ่นปักผมก็จะมีรูปทรงเหมือนกัน คือ มีส่วนของยอดปิ่น และก้านปิ่น  ซึ่งเป็นรูปทรงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

ปิ่นปักผมนอกจากจะถูกนำมาประดับศีรษะเพื่อความสวยงามแล้ว ยังซ่อนความหมายและบอกเล่าถึงอารยะธรรมของแต่ละประเทศได้อีกด้วย

ในประเทศเกาหลี สมัยโชซอนปิ่นปักผม เป็นเสมือนเครื่องบอกถึงฐานะและยศของผู้หญิง โดยปิ่นปักผมที่แกะสลักเป็นรูปมังกรจะใช้สำหรับพระราชินี พระชนนี พระอัยยิกาเป็นต้น ส่วนปิ่นปักผมที่แกะสลักเป็นรูปนกจะใช้สำหรับพระสนม และองค์หญิงเป็นต้น

ปิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมจีนโดยเฉพาะในเพศหญิง การประดับปิ่นลงบนมวยผมนั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในเรื่องของความสวยงามแล้ว ยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัด เมื่อหญิงสาวมีอายุ 15 ปี ชาวจีนถือว่าสิ้นสุดช่วงเวลาวัยเด็กและก้าวสู่วัยสาวโดยสมบูรณ์ ต้องเลิกถักผมเปียแล้วเปลี่ยนมาใช้การมวยผมหรือเกล้าผมแทนโดยใช้ปิ่นปักลงไปในมวยผม ซึ่งนอกจากจะเป็นการประดับตกแต่งให้สวยงาม ยึดผมไม่ให้หลุดลุ่ยแล้ว ยังเป็นการประกาศเป็นนัยว่า เธอผู้นี้เข้าสู่วัยสาวและพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าสาวแล้ว  ปักผมยังถูกนำมาใช้เป็นสิ่งของแทนใจที่หนุ่มสาวนิยมมอบให้แก่กันเพื่อแสดงออกถึงความรัก มีทั้งที่ทำจาก ไม้ เขาสัตว์ ทอง เงิน โลหะ หรือแม้กระทั่งทำจากหยก ซึ่งเป็นอัญมณีมงคลของชาวจีน วัสดุเหล่านี้ยังสื่อถึงระดับชั้นและฐานะทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของด้วย

ปิ่นปักผมยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการครองคู่ของชาวจีนอีกด้วย โดยในประเพณีและธรรมเนียมการหมั้นหมายและการแต่งงานนั้นเจ้าสาวจะต้องนำปิ่นที่ประดับอยู่บนศีรษะของตนมอบให้แก่เจ้าบ่าวในพิธีหมั้น ครั้งเมื่อถึงพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวจะนำปิ่นอันเดิมนี้เสียบกลับลงไปบนมวยผมของเจ้าสาว ด้วยความเชื่อที่ว่าปิ่นจะช่วยให้ครองคู่กันไปอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ การแต่งงานของบ่าวสาวชาวจีนในอดีตมักมีผู้ใหญ่ ชักนำ ทำให้บางครั้งคู่บ่าวสาวอาจไม่เคยได้พบหน้ากันมาก่อนจนถึงวันแต่งงาน ดังนั้น ในคู่แต่งงานบางคู่ว่าที่เจ้าสาวจะหักปิ่นปักผมออกเป็น 2 ส่วน และฝากแม่สื่อมอบให้กับว่าที่เจ้าบ่าวเก็บไว้ 1 ส่วน จนเมื่อถึงวันแต่งงานคู่บ่าวสาวจึงจะนำปิ่นทั้ง 2 ส่วนมาแสดงต่อกันเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีการส่งเจ้าสาวผิดตัว อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย

ส่วนที่ดินแดนล้านนา ชาวไทยอง หรือไทลื้อเรียกปิ่นปักผมว่า “หมาดโห” ส่วนลาวล้านช้างเรียก “หมั้นเกล้า” ซึ่งปิ่นปักผมของชาวล้านนาเป็นมากกว่าเครื่องประดับ เพราะคือสิ่งที่ใช้แทนดอกไม้ในการบูชาขวัญบนกระหม่อมที่มีถึง 32 ขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และเพื่อการก้มกราบบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นิยมทำเป็นรูปดอกไม้ มักหล่อด้วยโลหะ เงิน หรือทองเหลือง ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนมีเงินหรือเจ้านายชั้นสูง ส่วนชาวบ้านใช้ปิ่นที่ทำจากกระดูกสัตว์