การเปิดAEC กับผลกระทบการค้าทองรูปพรรณในไทย

13 / 11 / 2562 15:10

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ทำให้มีการยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณี ส่งผลต่อการค้าทองรูปพรรณไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้มีการนำเข้าเครื่องประดับทองหรือสร้อยม้วนที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ และมีการนำเข้าเครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ 22K หรือ 91.5% เข้ามามากขึ้น ทำให้การค้าทองรูปพรรณ (96.5% หรือ 23.16K) ของบ้านเราได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตเครื่องประดับทองขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงแรงงานช่างฝีมือในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

แม้จะรับผลกระทบแต่การลดหรือยกเลิกภาษีอากรนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี ก็ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตได้ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเร่งพัฒนารูปแบบสินค้าและบริหารต้นทุนการผลิตให้เหมาะสมเพื่อการส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปตลาดอาเซียน จะต้องทำความเข้าใจโครงสร้างตลาด  และพฤติกรรมการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของคนในอาเซียนด้วย โดยเฉพาะ
ตลาด สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย ที่คนนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเป็นอย่างมาก

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับสิงคโปร์มีมูลค่าราว 8.52 หมื่นล้านบาท โดยคนนิยมซื้อเครื่องประดับทองมากกว่าเครื่องประดับเงิน เนื่องจากมักซื้อเพื่อการลงทุนและเก็งกำไร 

ตลาดมาเลเซีย มีมูลค่า 376,300 ล้านบาท ชาวมาเลเซียชอบเครื่องประดับทองมากกว่าเครื่องประดับเงินเช่นกัน โดยเทศกาลที่มีการซื้อขายมากคือ เดือนถือศีลอดของมุสลิม ฮารีรายอ ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน โดยส่วนใหญ่การซื้อขายจะคึกคักช่วง 6 เดือนหลังของปี

ตลาดบรูไน มีมูลค่าประมาณ 2,480 ล้านบาท ชาวบรูไนนิยมทองรูปพรรณ เครื่องประดับทอง และหากเป็นเครื่องประดับเงินจะชอบเครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่และหนากว่าไทย แต่มีน้ำหนักเบา และไม่นิยมซื้อต่างหู เนื่องจากผู้หญิงบรูไนจะสวมผ้าโพกศีรษะ ช่วงที่มีการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสูงคือช่วงครึ่งปีหลัง แต่การซื้อขายแต่ละครั้งมีมูลค่าไม่มาก เพราะคนบรูไนระมัดระวังการใช้จ่าย

ตลาดอินโดนีเซีย มูลค่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ 1.36 ล้านล้านบาท ชาวอินโดนีเซียชอบทองรูปพรรณคล้ายชาวบรูไน และหากเป็นเครื่องประดับเงินจะเน้นเครื่องประดับลวดลายดอกไม้ ดวงดาว และรูปทรงเรขาคณิต สินค้าที่นิยมมากคือ กำไลข้อมือ แหวน สร้อยคอ และที่กลัดเสื้อ ชอบเครื่องประดับขนาดใหญ่และหนากว่าไทย แต่ต้องมีน้ำหนักเบา คนอินโดนีเซียมักซื้อทองและเครื่องประดับเพื่อลงทุนและเก็งกำไร โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือผู้หญิง

เมื่อมองโดยภาพรวมการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้ สร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการค้าทองรูปพรรณของไทยไม่น้อย เพราะนอกจากทองรูปพรรณของไทยจะมีค่าความบริสุทธิ์ของทอง แตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นลาวและกัมพูชาต่างก็ไม่นิยมนำเข้าจากไทย เนื่องจากสามารถผลิตเครื่องประดับทองภายในประเทศเองได้ อีกทั้งรูปแบบและสีสันที่นิยมก็แตกต่างออกไป แต่ในทางกลับกันการเปิด AEC จะทำให้มีการนำเข้าเครื่องประดับทองจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์มายังไทยเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นด้วย