อิหร่านเปิดเหมืองแร่ทองคำเพิ่ม สู้มาตรการคว่ำบาตรรอบสอง

13 / 11 / 2562 15:49

มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบสองของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 ทำให้อิหร่านเพิ่มการทำเหมืองแร่ทองคำมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนท้องถิ่น หลังจากที่เคยเปิดโรงงานถลุงแร่ทองแบบเต็มพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไปแล้วเมื่อปี 2015

Iran Minerals Production and Supply Company (IMIDRO) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบรรษัทเหมืองแร่และอุตสาหกรรมเหมืองแร่แห่งชาติอิหร่าน เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชนในการพัฒนาเหมืองแร่แบบดั้งเดิมรวมถึงเหมืองทองคำขนาดเล็ก 6 แห่ง ทั่วทั้งประเทศโดยเฉพาะทางตอนกลางของจังหวัดอิสฟาฮาน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดโคราซาน ตะวันออกและตะวันตกของจังหวัดอาเซอร์ไบจาน ซึ่งนอกจากจะเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาเหมืองแร่ในครั้งนี้ก็เพื่อทำให้เหมืองแร่เหล่านี้เป็นเหมืองแร่ที่ถูกกฎหมายด้วย

มีรายงานของศูนย์เบลเฟอร์เพื่อวิทยาศาสตร์และกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่าอิหร่านเป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ของโลกประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของน้ำมันที่พิสูจน์ 10 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเจ้าของก๊าซธรรมชาติสำรอง 16 เปอร์เซ็นต์ของโลก นอกจากนี้อิหร่านยังมีเงินทุนำรองในรูปทองคำประมาณ 320 ตัน มีสังกะสี ทองแดง และเหล็กเป็นทุนสำรองอีกจำนวนมาก

สภาทองคำโลก (WGC) รายงานว่าความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองของอิหร่านเพิ่มขึ้น 200% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาแตะที่ระดับ 15.2 เมตริกตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะมาตรการคว่ำบาตรที่ทำให้ผู้คนเกิดความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ค่าเงินลดลง ทำให้ความต้องการ ทองคำแท่งและเหรียญทองคำมีมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ในปี 2015  อิหร่านได้เปิดโรงงานถลุงแร่ทองแห่งใหม่ ใกล้เหมืองซาเรห์ ชูราน ในจังหวัดอาเซอร์ไบจันตะวันตก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสินแร่ทองคำ เงิน และปรอท พร้อมคาดการณ์เหมืองแห่งนี้มีทรัพยากรแร่กว่า 20 ล้านตัน

โรงถลุงแร่แห่งใหม่ของอิหร่านแห่งนี้ มีมูลค่ากว่า 31 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 1,017.5 ล้านบาท ถือว่าใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยกระบวนการผลิตจะใช้เทคโนโลยีเฉพาะที่คิดค้นขึ้นโดยชาวอิหร่าน สามารถให้ผลผลิตที่เป็นทองคำได้ปีละ 3 ตัน ผลิตแร่เงินได้ปีละ 2.5 ตัน และผลิตปรอทได้ปีละ 1.5 ตัน 
โครงการเปิดโรงถลุงแร่ทองคำนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของอิหร่าน ที่มุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางเศรษฐกิจโดยใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน และอิหร่านตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีความรู้เป็นพื้นฐานอันดับ 1 ของภูมิภาคให้ได้