สินทรัพย์ปลอดภัย คืออะไร

22 / 11 / 2562 13:30

Safe Haven คือที่หลบภัยในการลงทุน เป็นทรัพย์สินอะไรก็ได้ที่นักลงทุนสามารถเข้าไปทำกำไรหรือนำเงินลงทุนไปพักไว้ชั่วคราวเมื่อตลาดอยู่ในภาวะผันผวน ซึ่งอันดับแรกที่นักลงทุนจะนึกถึงก็คือ มองคำนั่นเอง

  ทองคำ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมของนักลงทุน โดยให้ผลตอบแทนเป็นส่วนต่างของราคาซื้อขาย ซึ่งทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะทองคำบนโลกนั้นมีอยู่อย่างจำกัด ไม่เหมือนเงินสกุลต่างๆ ที่สามารถพิมพ์เพิ่มขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา ปัจจุบัน การลงทุนในทองคำมีทั้งการซื้อทองคำจริงๆ มาเก็บไว้หรือ ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมทองคำ

นอกจากนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นๆที่อยู่ในฐานะ Safe Haven ด้วยได้แก่พันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ระยะยาวออกโดยหน่วยงานราชการ หรือรัฐบาล มีผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลมีผลตอบแทนต่ำ แต่ก็มีความผันผวนน้อย เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ เพราะเราจะได้ดอกเบี้ยในอัตราที่แน่นอน และได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ

เงินสด เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า“Cash is King” แม้ว่าเงินสดจะเป็นที่การลงทุนที่มีความไม่แน่นอน และการถือเงินสดก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนอะไร แต่นักลงทุนบางคน ยอมที่จะถือเงินสดอยู่ในมือมากๆ โดยอาจฝากธนาคารไว้ เพื่อรอโอกาสเข้าไปลงทุน เวลาที่สินทรัพย์หลายๆ อย่าง มีราคาลดลง
เมื่อเทียบผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่เป็น Safe Haven ทั้ง 3 ประเภทระหว่างปี 2008-2018 จะพบว่าทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.3% ต่อปี พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.2% ต่อปี เงินสด (กรณีฝากประจำ 12 เดือน) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.7% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้น SET Index ในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งอาจมีความผันผวนและไม่จัดอยู่ในทรัพย์สินปลอดภัยกลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 13.3% ซึ่งมากกว่าทองคำ พันธบัตรรัฐบาล 10 ปี และ เงินสด 

จึงอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงที่ภาวะการลงทุนมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง การนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นหลุมหลบภัยเป็นการรักษาเงินต้นมากกว่าที่จะสร้างผลตอบแทนสูงๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำย่อมได้ผลตอบแทนที่ต่ำตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง ถูกนักลงทุนต่างชาติมองว่าเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่(Emerging Markets: EMs) ส่วนหนึ่งเพราะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงทั้งในดุลการค้าและบริการ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ  สูงขึ้นหลังรัฐบาลเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน สาธารณูปโภค เครือข่ายดิจิทัล รวมถึงโครงการ EEC และมีความชัดเจนในนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีกระแสรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศสูง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำ และสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ถือหลักทรัพย์ไทยไม่สูงนัก ทำให้ไทยสามารถรองรับความผันผวนการไหลเข้าออกของเงินลงทุนต่างชาติได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี การถูกมองเป็นแหล่งลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยก็มีส่วนทำให้ค่าเงินแข็งกว่าประเทศอื่น