สถานการณ์การส่งออกเครื่องประดับทองและอัญมณีของไทย ปี62

25 / 12 / 2562 14:15

กรมศุลกากร โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)ประมวลผลตัวเลขการส่งออกเครื่องประดับทอง เงิน และอัญมณีของไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2562 พบว่ามีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 34.01 มูลค่า 434,752.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าแสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(324,427.47 ล้านบาท)เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 ของไทย แต่เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกเป็นรายผลิตภัณฑ์กลับพบว่าเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม มีสัดส่วนลดลง

ตลาดสำคัญของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกลดลงได้แก่ ตลาดฮ่องกง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า และสถานการณ์การประท้วงที่ยืดเยื้อและเพิ่มความรุนแรง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในฮ่องกงลดลง กระทบต่อร้านค้าปลีกที่ต้องปิดตัวลงหลายแห่ง ส่งผลให้การนำเข้าเพชรเจียระไน และเครื่องประดับทองของไทยลดลง เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ที่สงครามการค้าส่งผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนแอลง เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองซึ่งเป็นสินค้าหลักส่งออกในปีนี้จึงมี มูลค่าการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 23.82 และร้อยละ 3.86 ตามลำดับ 

การส่งออกไปยังญี่ปุ่นสินค้าสำคัญหลายรายการไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ล้วนมีมูลค่าการส่งออกลดลงทั้งสิ้น ส่วนการส่งออกไปยังจีนแน่นอนว่าผลกระทบของสงครามการค้ามีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว การส่งออกเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทองและสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ไปยังประเทศจีนจึงมีสัดส่วนลดลงถึงร้อยละ 23.31 เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ตลาดหลักของไทยในหมู่เกาะแปซิฟิกก็มีสัดส่วนการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 26.85 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงินซึ่งเป็นสินค้าหลักลดลง ส่วนสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง ก็หดตัวลงร้อยละ 22.67
 
การส่งออกไปยังรัสเซียในส่วนของเครื่องประดับเงินที่เคยเป็นสินค้าหลักในปีที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงเกือบเท่าตัว แต่เครื่องประดับทองมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและความไม่มั่นคงในภูมิภาค ผู้บริโภคจึงลดการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการสะสมสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่ม อย่างทองคำเพิ่มขึ้น

แม้การส่งออกเครื่องประดับและอัญมณีของไทยในหลายประเทศจะมีสัดส่วนลดลง แต่การส่งออกไปยังอินเดีย อาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลับมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกไปยังอินเดียสินค้าส่วนใหญ่เป็น เพชรเจียระไน พลอยก้อน พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน โลหะเงิน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นราว 1.98 เท่า จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ กัมพูชา และมาเลเซียโดยสินค้าส่งออกที่สำคัญไปยังสิงคโปร์คือ เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับทอง สินค้าส่งออกไปยังกัมพูชาเป็นเพชรเจียระไน และเครื่องประดับทอง  สินค้าส่งออกสำคัญไปยังมาเลเซียคือเครื่องประดับทอง

ส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็เพิ่มขึ้นแม้จะไม่มากเพียงร้อยละ 0.95จากการส่งออกไปยังสหรัฐ-อาหรับเอมิเรตส์ โดยมีสินค้าสำคัญอย่างเพชร-เจียระไน ส่วนสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 3.78 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมและทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปีในเดือนสิงหาคม ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองของชาวยูเออีลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ส่วนการส่งออกไปยังกาตาร์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.35 จากการส่งออกเครื่องประดับทอง