พระที่นั่งพุดตานวังหน้า

25 / 12 / 2562 14:46

พระที่นั่งพุดตานวังหน้า ทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจก สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระที่นั่งพุดตานวังหน้า มีรูปทรงใกล้เคียงกับพระที่นั่งพุดตานทองหรือพระที่นั่งพุทธตาลกาญจนสิงหาสน์ของวังหลัง

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พระที่นั่งพุดตานวังหน้าใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระมหาอุปราช โดยมีหลักฐานคือพระฉายาลักษณ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานวังหน้า ต่อมาเมื่อพระองค์ ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว โปรดเกล้าฯพระราชทานพระที่นั่งพุดตานวังหน้าให้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ดังปรากฏหลักฐานทั้งภาพถ่ายและจดหมายเหตุ ว่าในพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย พ.ศ. 2429 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร ทรง “พระที่นั่งพุดตานฝ่ายพระราชวังบวร คนหาม 30”

นอกจากนี้ พระที่นั่งพุดตานวังหน้ายังมีหลักฐานการใช้งานอื่นๆเช่น หลังพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ในช่วงเช้าวันที่ 30 มกราคม 2444 แล้ว เวลาบ่าย 5 โมงเศษ เสด็จประทับ “พระที่นั่งพุดตานในพระราชวังบวร” ในกระบวนแห่ ด้วยเหตุที่ภายหลังยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้วนั้น พระที่นั่งพุดตานวังหน้า ใช้เป็นพระราชยานสำหรับพระราชกุมารหลายคราว จึงมีการเพิ่มเตียงลา (สำหรับก้าวขึ้นลง และใช้วางพระบาท) ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และ “เตียงลา 2 ชั้น” นี้เองที่ปัจจุบันใช้จำแนกความแตกต่างระหว่าง “พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์” กับ “พระที่นั่งพุดตานวังหน้า”

นอกจากนี้พระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นธรรมเนียมที่สำนักพระราชวังจะเชิญพระที่นั่งพุดตานวังหน้า จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่7  พระพุทธรูปซึ่งอัญเชิญมาเป็นประธานในการพระราชพิธี

ทั้งนี้นามพระที่นั่งพุดตานเป็นนามเก่ามีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เนื่องจากได้พบขื่อพระที่นั่งสัปคับพุดตานทองอยู่ในกระบวนแห่เพ็ชรพวง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อนุมานว่านามพระที่นั่งพุดตานอาจมีที่มาจากลายที่ทำขึ้นในพระที่นั่งสัปคับพุดตาน สันนิษฐานว่าเป็นลายอย่างจีนมีต้นแบบมาจากลายเครื่องถ้วยที่มีเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือมีที่มาจากแผ่นรูปกระจังขนาดใหญ่ซึ่งประดับอยู่สองข้างพระที่นั่ง
พุดตาน โดยทรงยกอุทาหรณ์เปรียบเทียบจากพัดพุดตาน ว่ามีรูปร่างอย่างดอกบัวแท้ๆ แต่ก็เรียกว่า พัดพุดตาน ดังนั้นลายประดับรูปกระจังดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้เรียกพระที่นั่งพุดตานก็เป็นได้ 

พระที่นั่งพุดตานกรุงรัตนโกสินทร์มี 3 องค์เป็นพระที่นั่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินใช้ในพระบรม
มหาราชวัง 2 องค์ และสำหรับพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ใช้ในฝ่ายพระบวร
ราชวัง 1 องค์ คือ
1. พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์
2. พระที่นั่งพุดตานถม
3. พระที่นั่งพุดตานวังหน้า