ต่างชาติยืนยัน กรุงศรีอยุธยาเป็นมหานครแห่งทองคำ (ตอนที่ 2)

25 / 12 / 2562 15:28

เรื่องราวความรุ่งเรืองของอาณาจักกรุงศรีอยุธยาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวยุโรป แม้แต่ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอยู่เมืองไทยเป็นเวลา 3 เดือน 6 วัน ก็ยังได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือจดหมายเหตุของเขาเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำในพระนครศรีอยุธยาไว้ว่า

“ไม่มีประเทศใดจะมีชื่อเสียงในความสมบูรณ์ทางแร่มากกว่าชาวสยาม ดังจะเห็นได้จากพระพุทธรูปและเครื่องโลหะหล่อจำนวนมหาศาล และเช่นเดียวกัน เขาสกัดทองคำได้จำนวนมาก ซึ่งมิใช่จะใช้ประดับพระพุทธรูปที่มีอยู่จำนวนมากมายเหลือคณานับเท่านั้น อาคารสถานที่ เช่น ฝาพนังห้อง เพดาน และหลังคาโบสถ์ ยังดาดทองอีกด้วย บ่อแร่เก่าพบกันอยู่ทุกวัน แล้วยังมีซากเตาถลุงจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าถูกทอดทิ้งไปเพราะสงครามกับพม่านานมาแล้ว...”

ลาลูแบร์ยังได้บันทึกไว้ว่า ในการพระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตฝรั่งเศสชุดก่อนว่า นอกจากจานอาหารจะเป็นทองคำหลายใบแล้ว “สำหรับผลไม้ที่เสิร์ฟ มีบางถาดทำด้วยทองคำ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดให้ทำขึ้นเพื่อต้อนรับนี้ โดยเฉพาะสำหรับ มร.เดอ โชมองค์”

จากบันทึกของชาวต่างชาตินั้น จะเห็นได้ว่าทองคำมีอยู่ทั่วไปในอยุธยา เป็นทองคำที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่ได้ซื้อเข้ามาแต่อย่างใดและยังมีเอกสารยืนยันว่าอยุธยาส่งทองคำออกไปขายต่างประเทศด้วยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเอกสารระบุว่า “ในปี 2283 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ส่งทองที่ขุดได้จากบ้านป่ารอน อำเภอบางสะพาน ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 46 หีบ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงแนะนำให้ราชทูตไทยนำผู้เชี่ยวชาญการขุดทองของฝรั่งเศสไปช่วยด้วย”

นอกจากนี้ ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระสุพรรณบัฏ ซึ่งเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีไปถึงกษัตริย์เมืองอื่นนั้น ก็ยังเขียนไปบนแผ่นทองแทนกระดาษ ตลอดจนเครื่องใช้ในราชสำนักก็นิยมทำด้วยทอง แม้แต่ชาวบ้านตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ก็นิยมเครื่องประดับที่ทำจากทอง แม้แต่ฟันปลอมก็นิยมทำด้วยทอง

แม้แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทองคำในสยามก็ยังมีอยู่มากมายดังที่ มิสเตอร์เกรแฮม ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 และที่ 6 ได้กล่าวถึงแหล่งทองในสมัยรัตนโกสินทร์ไว้ว่า “ทองคำในทราย มีอยู่เกือบจะทุกลำธารในประเทศสยาม”
ปัจจุบัน มีการยืนยันแล้วว่า ในประเทศไทยมีแหล่งทองคำ 76 แห่ง ใน 31จังหวัด มีแร่ทองคำประมาณ 700 ตัน หากสกัดเป็นทองคำบริสุทธิ์แล้วจะมีมูลค่าประมาณ 9 แสนถึง 1 ล้านล้านบาท

แหล่งทองที่มีชื่อเสียงและขุดกันมาแต่โบราณ เป็นแหล่งแร่ทองคำเนื้อบริสุทธิ์ไม่มีแร่ธาตุอื่นเจือปน ขุดขึ้นมาจากดินได้เป็นก้อนโดยไม่ต้องนำไปถลุงก่อน เรียกกันว่า ทองนพคุณ หรือทองเนื้อเก้า ก็คือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นทองที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ทั้งยังบันทึกไว้ว่า ใน พ.ศ.2289 ผู้รั้งเมืองกุยบุรีได้ส่งทองหนัก 3 ตำลึงไปถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงทรงเกณฑ์คนจำนวนกว่า 2,000 คนให้ร่อนทองที่บางสะพาน ได้ทองคำหนักถึง ๕๔ กิโลกรัม ทรงนำทองนี้ไปแผ่เป็นแผ่นหุ้มยอดมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี

ขอขอบคุณข้อมูลจากโรม บุนนาค ผู้จัดการออนไลน์