สคบ .เอาจริงการขายทองผ่านโซเชียลมีเดีย

25 / 12 / 2562 15:57

ปัจจุบันการหลอกขายทองในระบบออนไลน์มีมากขึ้น ซึ่งจะมาในรูปแบบที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการหลอกลงทุนในแชร์ทองคำ โดยให้เข้ามาเก็งกำไรราคา การซื้อขาย Forex หรือการลงทุนในสกุลเงินต่าง ๆ ล่วงหน้า ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไอ้ออกมาคุมเข้มเรื่องนี้แล้ว

การหลอกขายทองผ่านโซเชียลมีเดียนี้ เริ่มแรกมิจฉาชีพจะทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อก่อน เช่นการใช้กลยุทธ์ให้สิทธิพิเศษ การให้กำไรที่งดงาม เมื่อเชื่อยอมลงทุนหรือยอมซื้อก็จะได้ของที่ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ หรือไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งเรื่องนี้  สคบ.แนะนำว่าหากผู้บริโภคต้องการจะซื้อทองคำขอให้ไปซื้อตามร้านที่ได้รับการรับรองจากสมาคมค้าทองคำและสคบ.แล้ว จึงจะได้ทองที่มีคุณภาพตามมาตรฐานทั้งเรื่องราคาและเปอร์เซ็นต์ทอง แต่บางครั้งราคาอาจจะแตกต่างกัน เรื่องของค่ากำเหน็จตามสถานที่จำหน่าย และลวดลายของทองคำ แต่ทั้งนี้ร้านค้าจะต้องระบุ ราคา เปอร์เซ็นต์ทอง ในฉลากให้ชัดเจนตามที่กฎหมายที่ระบุไว้ และอย่าไปหลงเชื่อคำชักชวนให้ลงทุนที่ได้กำไรงามเกินกว่าที่ควรจะเป็น

ส่วนในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค มีกฎหมายกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งทางสคบ. ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการโภคได้รับรู้อยู่แล้ว และหากผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากการโฆษณาไปโดยที่ผู้ขายไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามที่ระบุไว้ในโฆษณา ทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือราคา ก็จะถือว่าทำผิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งเดิมจะมีโทษปรับ 60,000 บาท จำคุก 6 เดือน แต่ตอนนี้ได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โทษจะเพิ่มเป็น 2 เท่า และหากความผิดที่เกิดขึ้นต่อ 1 คนก็จะถือเป็น 1 กรรม ถ้าหลายๆ คนรวมกัน โทษก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ และฐานความผิดจะแบ่งเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการและผู้เสียหายจะต้องไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ในส่วนของ สคบ.จะเป็นการเอาผิดทางแพ่ง

ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ ได้ให้อำนาจ สคบ. ในการสั่งฟ้องคดีได้ทันที เพื่อความรวดเร็วในการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญหากพบว่า การโฆษณาใดที่เป็นเท็จหรือพูดเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ คณะกรรมการโฆษณาสามารถมีคำสั่งห้ามการโฆษณาในทุกสื่อได้ทันที ยกเว้นโฆษณา ในออนไลน์ก็อาจจะต้องแจ้งไปยังกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อระงับการโฆษณา หรือการแบนโฆษณาชิ้นนั้น

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาได้เปรียบเทียบปรับผู้ที่โฆษณาไม่ตรงกับความจริงไปประมาณ150 ราย รายละ 60,000 บาท ซึ่งเป็นโทษปรับสูงสุด เพราะเห็นว่าการโฆษณาเป็นการนำข้อมูลข่าวสารออกสู่สาธารณะ ทำให้ผู้ที่ได้รับรู้และหลงเชื่อได้รับความเสียหาย จึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ซึ่งการปรับ 60,000 บาทจะปรับผู้ประกอบการ 30,000 บาท และก็เจ้าของสื่ออีก 30,000 บาท แต่ใน พ.ร.บ.ตัวใหม่โทษจะเพิ่มเท่าตัว ซึ่งปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ค่อนข้างจะระมัดระวัง และก็ทำผิดน้อยลงเพราะว่าอัตราค่าปรับสูงมากขึ้น

หากทราบว่าถูกหลอก สามารถติดต่อทาง สคบ.ได้ทั้งทางออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นของ สคบ. หรือร้องเรียนทางโทรศัพท์ สายด่วนหมายเลข 1166 หากอยู่ต่างจังหวัดไปได้ที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ สคบ.จังหวัด คอยดูแลรับเรื่องราวร้องทุกข์อยู่