เหมืองแร่ทองคำในอุซเบกิสถาน

31 / 01 / 2563 11:41

สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง มีพื้นที่ 447,400 ตารางกิโลเมตร มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากมาย เช่น ทองแดง เงิน ถ่านหิน ตะกั่ว  ทองคำ และแร่ยูเรเนียม โดยสาธารณรัฐอุซเบกิสถานนั้นสามารถผลิตทองคำได้มากเป็นอันดับ 9 ของโลกและผลิตแร่ยูเรเนียมได้เป็นอันดับ 7 ของโลก 

อุซเบกิสถานมีแหล่งแร่ทองคำปฐมภูมิ (Primary Gold Deposits) 33 แหล่ง บริษัทเหมืองทองที่สำคัญ ได้แก่ บริษัท Almalyk GMK และ Navoi GMK มีแหล่งแร่สำคัญ ผลิตทองคำได้  98 ตันต่อปี (ข้อมูลปีพ.ศ. 2556) ประมาณการว่าอุซเบกิสถานมีปริมาณทองคำสำรองจำนวน 5,300 เมตริกตัน มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก  ส่วนแร่ยูเรเนียม ผลิตได้ 2,400 ตันต่อปี (พ.ศ. 2556) มีปริมาณยูเรเนียมสำรองโดยประมาณ 185,800 ตัน  นอกจากนี้ยังสามารถผลิตทองแดง  ได้ 98,000 เมตริกตันต่อปีมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก อีกด้วย 

เหมืองทองคำ Muruntau ตั้งอยู่ในทะเลทรายอันแห้งแร้งของเมือง Kyzyl Kum เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปัจจุบัน เป็นเหมืองเปิดขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีความลึก1,900 ฟุต เป็นอันดับ 5 ของเหมืองที่ลึกที่สุดในโลก นอกจากขุดทองแล้ว Muruntau ยังเป็นแหล่งแร่พลอยเทอร์คอยซ์ที่สำคัญอีกด้วย คาดการณ์กันไว้ว่า เหมืองแห่งนี้จะมีแร่ 2,500 – 5,300 ตันเลยทีเดียววันนี้เหมือง Muruntau ผลิตทองคำได้มากกว่า 60 ตันต่อปี 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสาธารณรัฐอุซเบกิสถานเป็นประเทศอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ หากแต่ยังขาดเงินทุนและเทคโนโลยีที่จำเป็นในการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐ อุซเบกิสถานกับต่างประเทศในด้านทรัพยากรแร่จะอยู่ในลักษณะที่บริษัทต่างชาติเข้ามารับสัมปทาน และร่วมลงทุนในสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน อาทิ การร่วมทุนทำเหมืองแร่โพแทซโดยบริษัทของสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีน การได้สัมปทานเหมืองแร่ทองแดงของบริษัทสหราชอาณาจักร การได้สัมปทานเหมืองแร่ยูเรเนียมของบริษัทญี่ปุ่น และการร่วมทุนทำเหมืองทองคำของบริษัทสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ปัจจุบัน สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ถือครองทองคำอยู่ 342.1 ตัน มากเป็นอันดับ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 6 ของเอเชียรองจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน