ผลกระทบจากการเก็บภาษีอัญมณีและเครื่องประดับUAE

31 / 01 / 2563 11:50

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE เป็นผู้ส่งออกและผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอย่างทองคำ เพชร และเครื่องประดับแท้สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของโลก โดยมีมูลค่าการซื้อขายแต่ละปีมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากชาว UAE มีกำลังซื้อสูง และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากถึงปีละกว่า 17 ล้านคน แต่หลังจากมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% และภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอัตรา 5% ก็ส่งผลต่อการการเติบโตของตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใน UAE ไม่น้อย

            การเรียกเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างมาก โดยพบว่าปริมาณความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในประเทศลดลงมากที่สุดในรอบ 20 ปี เนื่องจากราคาเครื่องประดับทองที่พุ่งสูงขึ้นจนผู้บริโภคตั้งตัวไม่ทัน ประกอบกับราคาทองคำในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การนำเข้าทองคำลดลงตามไปด้วย ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้เพราะ UAE เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางนั่นเอง

ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2019 การส่งออกของไทยไป UAE ลดลงหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องประดับทอง ที่มีมูลค่าลดลง 3.78% รองลงมาเป็นพลอยสีและอัญมณีสังเคราะห์มีมูลค่าลดลงมากที่สุดถึง 50.25% ซึ่งการส่งออกไป UAE นี้ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2018 หรือตั้งแต่มีการเรียกเก็บภาษีนั่นเอง

เมื่อดูภาพรวมตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกของ UAE ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2019 ที่ผ่านมาก็พบว่ามีสัดส่วนลดลงโดยUAE ส่งออกทองคำ เพชร และเครื่องประดับแท้ ไปยังประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย ตุรกี ฮ่องกง และเบลเยียม เป็นมูลค่ากว่า 21ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.88% แต่การนำเข้าทองคำ เครื่องประดับแท้ และเหรียญกษาปณ์ จากอินเดีย ฮ่องกง อังกฤษ  สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกีมูลค่ากว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

            สำหรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใน UAE นั้นชาวอาหรับพื้นเมืองนิยมเครื่องประดับทองคำแบบโบราณ 21 กะรัต แต่หากเป็นเครื่องประดับสมัยใหม่จะนิยมทองคำ 18 กะรัต ส่วนชาวเอเชียใต้ที่อาศัยในUAE นิยมทองรูปพรรณสไตล์อินเดีย 22 กะรัต ขณะที่ชาวตะวันตกที่เข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในแถบนี้นิยมเครื่องประดับทองคำสมัยใหม่ 14 กะรัต และ 18 กะรัต ส่วนตลาดบนของชาวมุสลิมนิยมแพลทินัมประดับเพชร และพลอยเจียระไนมากกว่าทองคำ