ปี63 ธนาคารกลางทั่วโลกยังลงทุนทองคำต่อเนื่อง

31 / 01 / 2563 12:47

เมื่อปีที่ผ่านมา(2562) ราคาทองคำทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยลบหลายด้านทั้งความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นผลมาจากการปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐถึง 3 ครั้งในรอบปี ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเนื่องจากสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐกับจีน ที่กินเวลายาวนานถึง 20 เดือน  ซึ่งนอกจากทำให้ราคาทองคำสูงขึ้นแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกยังแห่ซื้อทองคำเพิ่มกว่า  20% อีกด้วย

โกลด์แมน แซคส์ ธนาคารชั้นนำระดับโลกในสหรัฐ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาธนาคารกลางทั่วโลกเข้าลงทุนทองคำแท่งรวมกันคิดเป็น 1 ใน 5 หรือราว 20% ของปริมาณทองคำแท่งที่มีในตลาดโลก ทำสถิติความต้องการทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐ โดยธนาคารกลางของรัสเซียและจีนเป็นผู้ซื้อสูงสุด
 
ธนาคารกลางรัสเซียเข้าซื้อทองคำแท่งตลอดทั้งปีรวมทั้งสิ้น 106 เมตตริกตัน ถึงแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี2561  แต่ก็เป็นปริมาณทองคำแท่งที่มีมากกว่าธนาคารกลางทุกแห่งทั่วโลก นอกจากนี้ ทองคำแท่งสะสมของธนาคารกลางรัสเซียก็มีปริมาณเพิ่มเป็น 2,200 เมตตริกตัน ซึ่งมีมูลค่าเป็น 20.7% ของทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมดของรัสเซีย หรือทองคำแท่งมีสัดส่วนมากที่สุดในทุนสำรองระหว่างประเทศรัสเซียอีกด้วย สำหรับปีที่ผ่านมานั้น มูลค่าของทองคำแท่งที่อยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียทะยานขึ้น 42% ส่งผลให้มูลค่าทองคำแท่งในธนาคารกลางรัสเซียเพิ่มเป็น 109,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.4 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมูลค่าทะยานขึ้นกว่า 4 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนที่ได้เข้าซื้อทองคำแท่งเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนในกองทุนสำรองระหว่างประเทศจีน โดยมีปริมาณทองคำแท่งทะยานขึ้นกว่า 100 เมตตริกตัน นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี2561ที่ธนาคารกลางจีนเริ่มกลับมาซื้อทองคำแท่ง สำหรับสาเหตุที่ธนาคารกลางจีนซื้อทองคำแท่งเพิ่มมากขึ้น ล้วนมีเหตุผลที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารกลางรัสเซีย
 
ทั้งนี้ ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ มองราคาทองคำตลาดโลกในปี 2563 จะอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ นั่นหมายถึง มีความเป็นไปได้สูงมากที่ราคาทองคำตลาดโลกในปีหน้าจะยังมีสถิติสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงให้น้ำหนักในการเพิ่มการลงทุนในทองคำเพื่อชดเชยกับการลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในทุนสำรองระหว่างประเทศลงอย่างต่อเนื่อง