ไขปริศนาประวัติศาสตร์ จากรูปปั้นหัวม้าทองคำ

31 / 01 / 2563 14:17

ทีมนักโบราณคดีชาวเยอรมันขุดพบรูปปั้นหัวม้าทองคำได้ที่ waldgirmesใกล้กับเมืองแฟรงก์เฟิร์ตในปัจจุบัน การค้นพบครั้งนี้ช่วยไขปริศนาทางประวัติศาสตร์ว่าอาณาจักรวรรดิโรมันไม่ได้ใช้ยุทธวิธีทางทหารอย่างเดียวในการเอาชนะขนเผ่าเยอรมัน แต่รูปปั้นทองคำและท่อส่งน้ำ หรือ Waldgirmes ต่างหากที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนแห่งชัยชนะที่จักรวรรดิโรมันมีเหนือเผ่าเยอรมัน

เดิมนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าจักรวรรดิโรมันมุ่งทำลายชนเผ่าเยอรมันด้วยกองกำลังทหารที่มีศักยภาพ เพื่อชิงพื้นที่ใหม่ทางตอนเหนือและตะวันออกของแม่น้ำไรน์ หลังการสู้รบครั้งใหญ่ที่ป่าทอยโทบวร์ก (Teutoburg Forest) ในปีคริสต์ศักราชที่ 9 กองกำลังทหารโรมันจำนวน 15,000 นายพ่ายแพ้แก่ชนเผ่าเยอรมันอย่างยับเยิน ส่งผลให้จักรวรรดิโรมันล้มเลิกการส่งทหารไปบุกตีพื้นที่ของชนเผ่านานถึง 300 ปี และสร้างป้อมปราการขึ้นที่บริเวณชายแดนทางตอนเหนือของอาณาจักรแทน

แต่การค้นพบรูปปั้นหัวม้าและข้าวของอื่นๆ ใน Waldgirmes ระหว่างปี 1994 – 2009 กลายเป็นหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นว่ายุทธการทางทหารหาใช่แผนการเดียวของจักรวรรดิโรมันไม่ เพราะพื้นที่ตั้งถิ่นฐานที่มีขนาดราว 20 เอเคอร์ มีแนวกำแพงป้องกัน แต่กลับไม่มีอาคารทางการทหารอยู่เลย สิ่งเหล่านี้นำไปสู่สมมุติฐานใหม่ว่าชาวโรมันที่อาศัยอยู่ยังบริเวณชายแดนอาจค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชนเผ่าเยอรมันอย่างเงียบสงบหลายปี จนกระทั่งเกิดยุทธการป่าทอยโทบวร์ก

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานอาคารที่ใช้ตั้งถิ่นฐานล้วนทำจากไม้ เมื่อวิเคราะห์จากวงปีของไม้พบว่า เมืองเล็กๆ แห่งนี้น่าจะก่อตั้งในปีคริสต์ศักราชที่ 4 หลังแนวกำแพงไม้ความสูง 3 เมตร พบเครื่องปั้นดินเผา ร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างสไตล์โรมัน ตลอดจนท่อส่งน้ำโบราณ  แสดงให้เห็นว่าพลเรือนมีชีวิตอยู่กันอย่างไร และอาจเข้าใจผิดก็ได้ที่ว่าจักรวรรดิโรมันพยายามล้างบางพื้นที่นี้

ไม่กี่ปีหลังยุทธการที่ป่าทอยโทบวร์ก วิถีชีวิตในเมืองโบราณแห่งนี้ต้องหยุดชะงัก แต่ไม่มีร่องรอยว่าเกิดการสู้รบหรือสังหารหมู่  เป็นไปได้ว่าชาวเมืองถูกอพยพออกไปอย่างสงบในปีคริสต์ศักราชที่ 16 หลังกองกำลังโรมันได้รับคำสั่งให้ละทิ้งพื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของแม่น้ำไรน์ หลังเมืองนี้ถูกทิ้งร้าง รูปปั้นจำนวนมากถูกทุบทำลายโดยชนเผ่าเยอรมัน บ้างนำเหล็กมารีไซเคิลไปทำประโยชน์อื่น  แต่หัวม้ากลับได้รับการยกเว้นตามความเชื่อนั่นเอง


หัวม้าทองคำจาก จักรวรรดิโรมัน น้ำหนัก 12.7 กิโลกรัม มูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 60 ล้านบาท) ขนาดเทียบเท่ากับหัวม้าจริงสร้างขึ้นราวศต.ที่1 ทำจากบรอนซ์เคลือบทองคำนี้ ถูกขุดค้นขึ้นมาจากระดับความลึก 9 เมตร ล้อมรอบด้วยก้อนหินหนัก 8 ก้อน ถังไม้ เครื่องมืออื่นๆ เช่นแอกวัว สันนิฐานว่านี่คือรูปปั้นเพื่อบูชายัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมชนเผ่าทางตอนเหนือของยุโรปที่มักบูชายัญม้า ด้วยการฝังพวกมันในที่ลุ่มหรือในแม่น้ำ จึงเป็นเหตุผลที่มันจึงไม่ถูกทุบทำลาย