วัดเชียงทอง แห่งล้านช้าง

31 / 01 / 2563 15:07

วัดเชียงทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นวัดเก่าแก่ วัดสำคัญวัดเดียวที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2428 ความงามงามของงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับยกย่องให้เป็น “อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง” จึงยังปรากฎให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ 
 
วัดเชียงทองสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2103 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างและล้านนา ในสมัยที่เมืองหลวงพระบางยังเป็นราชธานี ต่อมาพระองค์เมืองหลวงจากหลวงพระบางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นวัดประตูเมือง และท่าเทียบเรือด้านเหนือสำหรับการเสด็จประพาสทางชลมารคของกษัตริย์หลวงพระบาง

สถาปัตยกรรมสำคัญที่ถือเป็นหัวใจของวัดเชียงทองคือ สิม หรือ โบสถ์ แบบล้านช้างแท้ด้วยหลังคาโค้งอ่อนช้อยทรงปีกนก ลดหลั่นกัน 3 ชั้น บนสันกลางคามีช่อฟ้า 17 ช่อ แสดงถึงการเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ส่วนโหง่หรือช่อฟ้าที่อยู่ส่วนยอดสุดของหน้าบันทำเป็นรูปเศียรพญานาคชูคออ่อนช้อยสวยงาม ประตูสิมด้านหน้าเป็นงานแกะสลักไม้อ่อนช้อย ผนังด้านนอก-ด้านใน รวมถึงที่หน้าบัน ตกแต่งด้วย“พอกคำ”หรืองานลงรักปิดทอง ภายในประดิษฐาน“พระองค์หลวง” พระประธานปางมารวิชัย

ด้านหลังสิม เป็นงานประดับกระจกรูปต้นทองขนาดใหญ่ สื่อถึงตำนานการสร้างเมืองหลวงพระบางที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่าเป็นเมืองที่มีต้นทองอยู่มาก โดยเฉพาะที่วัดเชียงทองแห่งนี้เคยมีต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทองโดยเจ้าศรีสว่างวัฒนา ก็ได้ให้ช่างทำลวดลายเป็นรูปต้นทองไว้ที่ด้านหลังสิมเพื่อระลึกต้นทองยักษ์ในอดีตนั่นเอง

นอกจากสิมแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆอีก เช่น ซุ้มประตูโขง พระธาตุ หอไหว้น้อย หอไหว้สีกุหลาบ หอไหว้หลังพระอุโบสถ หอกลอง และหอราชโกศเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์  เป็นต้น นับเป็นงานศิลปะสกุลช่างล้านช้างที่งดงามและสมบูรณ์ คู่ควรกับเมืองมรดกโลกเป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับอาณาจักรล้านช้างมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน หลักฐานสำคัญคือพระธาตุศรีสองรักที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระเจ้าไชยเชษฐา ร่วมกันสร้าง มีศิลาจารึกเป็นตัวอักษรธรรมภาษาลาว อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรขอมภาษาไทย เมื่อฝรั่งเศสเข้ามายึดเมืองด่านซ้ายใน พ.ศ.2449 ได้นำศิลาจารึกนี้ไปเวียงจันทน์ เนื้อความในศิลาจารึกกล่าวถึงกษัตริย์ทั้งสองนคร จะรักใคร่กลมเกลียวกันจน ชั่วลูกชั่วหลาน จึงกล่าวได้ว่าการสร้างพระธาตุศรีสองรักนี้ เป็นสักขีพยานในการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับลาว หากฝ่ายใดถูกพม่ารุกราน อีกฝ่ายก็จะเข้าช่วยเหลือกัน ปัจจุบันพระธาตุศรีสองรักอยู่ในเขตอำเภอด่าซ้าย จังหวัดเลย