ทั่วโลกเข้ม มาตรการตรวจสอบแหล่งที่มาของทองคำ

07 / 02 / 2563 10:56

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในธุรกิจการค้าทองคำและเครื่องประดับ การ“จัดหามาอย่างถูกต้อง” (Responsibly Sourced)จึงกลายมาเป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบกิจการแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายปลีก ผู้ขายส่ง ผู้ค้าทองคำแท่ง และโรงงานสกัดทองคำ จะต้องตรวจสอบว่าทองคำที่ตนซื้อและนำไปใช้งานนั้นมาจากแหล่งที่ผ่านการรับรองและติดตามข้อมูลได้ ด้วยวิธีนี้ การค้าทองคำที่ไม่ผ่านการรับรองและไม่ทราบแหล่งที่มาก็กำจัดไปโดยสิ้นเชิง

ตัวอย่างของประเทศที่นำมาตรการ“จัดหามาอย่างถูกต้อง” (Responsibly Sourced) มาใช้อย่างเข้มข้นได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในตลาดทองคำระหว่างประเทศ รัฐบาลสวิสให้ความสำคัญกับมาตรการตรวจสอบแหล่งที่มาของทองคำจากนอกประเทศ โดยได้ทำข้อตกลงในระดับชาติและนานาชาติเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าทองคำที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิตเข้าสู่ประเทศ โดยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าทองคำของสวิส คือ Precious Metals Control Act และ Anti-Money Laundering Act อย่างเข้มงวด เพื่อให้การตรวจสอบมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการบิดเบือนแหล่งที่มาของทองคำ นอกจากนี้ สภาแห่งชาติของสวิสยังได้แนะนำให้เพิ่มบทบาทของผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมและขยายความร่วมมือในการผลิตทองคำที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

          สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกประเทศที่กำลังเตรียมออกกฎหมายใหม่กำหนดให้ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องรับรู้และเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมด ไม่ใช่แค่อัญมณี เพชรหรือพลอยสี แต่รวมถึงทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมายใหม่ที่คาดว่าจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้อย่างเข้มงวด

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว โดยนอกเหนือจากการเข้าร่วมและปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Kimberley Process สำหรับการค้าเพชรแล้ว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังพยายามผลักดันแนวทางในการจัดหาทองคำด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าจะช่วยลดหรือกำจัดทองคำแท่งที่ไม่ผ่านการรับรองแหล่งที่มาให้หมดไปจากตลาด และช่วยสร้างความโปร่งใสให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังศึกษาและดำเนินการกำหนดกระบวนการรับรองแหล่งที่มาของทองคำเช่นกัน อย่างเช่น สหภาพยุโรปที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายในเดือนมกราคม 2021 โดยอ้างอิงกระบวนการตาม OECD

        ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดเหล่านี้ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ และให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นเครื่องประดับ ซึ่งควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองไม่ได้ใช้วัตถุดิบอย่างทองคำและอัญมณีจากเหมืองที่ใช้แรงงานเด็กหรือเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองทองและอัญมณีนั้นดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกสามารถตรวจสอบได้ โดยผู้ประกอบการจะต้องสำแดงเอกสารแหล่งที่มาของวัตถุดิบให้เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในธุรกิจเครื่องประดับที่ดำเนินการอยู่

            การจัดหาวัตถุดิบทั้งอัญมณีและโลหะมีค่าตามหลักจริยธรรมทางการค้า เป็นจุดเริ่มต้นและต่อยอดไปถึงภาคการผลิตและการค้าเครื่องประดับ เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ขอขอบคุณ : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)