ไวรัสโคโรนา กับผลกระทบต่อราคาทองคำ

19 / 02 / 2563 16:00

ในปี 2545 เกิดการระบาดของโรคซาร์ที่มณฑลกวางตุ้งของจีน ทำให้ราคาทองคำทะยานขึ้น จาก 318.6 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปแตะระดับสูงสุดที่ 388.5 ดอลลาร์ต่อออนซ์(ต้นเดือนธ.ค. 45-ก.พ. 2546) หรือปรับตัวสูงขึ้นมากสุดถึง 21.94% จึงมีคำถามตามมาว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรนาที่ระบาดอยู่ในขณะนี้จะมีผลต่อราคาทองคำอย่างไร
 
การระบาดของไวรัสโคโรนาครั้งนี้ สร้างความวิตกให้กับนักลงทุนไม่น้อย ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก" ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาจะสามารถควบคุมได้ เมื่อไหร่ ราคาทองคำก็มีโอกาสปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากย้อนดูผลกระทบจากโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ ซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อน ก็น่าจะประเมินได้ว่าส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในตลาดโลกอย่างแน่นอน

ย้อนดูผลกระทบของ โรคซาร์ส ต่อราคาทองคำจะพบว่าในครั้งนั้น โรคซาร์สมีต้นกำเนิดที่มณฑลกวางตุ้งของจีน ก่อนจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปสู่ฮ่องกงและระบาดต่อเนื่องไปอีก 30 ประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากซาร์สมากถึง 774 คนทั่วโลก จากจำนวนผู้ป่วย 8,098 คน ในครั้งนั้น ราคาทองคำทะยานขึ้นสุดสุดถึง 21.94% จาก 318.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ เป็น388.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ และตัวเลขปริมาณความต้องการบริโภคทองคำของจีนช่วงเวลาดังกล่าวลดลงเกือบ 1 ใน 3 จากระดับ 63.2 ตันในไตรมาส 1 สู่ 44.6 ตันในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2003 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3 สู่ระดับ 58.6 ตัน ซึ่งเป็นช่วงหลังจากสิ้นสุดการระบาดของซาร์ส

ปัจจุบันการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตแซงหน้าโรคซาร์สไปแล้ว อาจสร้างมูลค่าความเสียหายเป็นเม็ดเงินมากกว่าโรคซาร์สถึง 3-4 เท่า เพราะจีนมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนยังคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของ GDP โลก สถานการณ์นี้จึงสร้างความวิตกให้กับนักลงทุน และหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเป็นวงกว้างขึ้น โดยนักลงทุนยังต้องจับตาดูสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด