ธงไชยเฉลิมพล

17 / 03 / 2563 10:08

ธงไชยเฉลิมพลหรือธงชัยเฉลิมพลนั้น เดิมเรียกว่า ” ธงประจำทัพ ” มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับทหารทุกนายเพราะถือเป็นตัวแทนจอมทัพ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเหล่าทหารหาญยามออกรบ และเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารทั้งปวง เมื่อธงนี้โบกสะบัดอยู่ที่ใดย่อมหมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ประทับอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งธงชัยเฉลิมพลนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองเพื่อตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธงด้วยพระองค์เอง

ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร มีลักษณะคล้ายธงชาติ พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราวๆละหลายธง โดยก่อนทำพิธีมอบธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยต่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่

ธงหนึ่งผืนมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศาของพระเจ้าอยู่หัว) พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว หรือที่เรียกว่า พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา แล้วจึงทำพิธีมอบธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยต่าง
 
ธงชัยเฉลิมพล ถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเหล่าทหาร ให้มีความกล้าหาญก่อนการออกศึกและเมื่อออกศึกจะต้องคุ้มครองป้องกันธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยชีวิตและห้ามไม่ให้ธงตกถึงมือศัตรูเพราะนั่นย่อมหมายถึงการสูญสิ้นซึ่งจอมทัพ โดยกองทัพบกจะประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหาร เนื่องในวันกองทัพบก ประจำปีทุกปีเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลของกองทัพ 

ธงชัยเฉลิมพลมี 4 ประเภท คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ  ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ และธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์