เท้าดอกบัวทองคำ ความงามตามความเชื่อของสาวจีน

17 / 03 / 2563 10:12

ในวัฒนธรรมโบราณของชาวจีน มีประเพณีการมัดเท้าสตรีให้มีขนาดเล็กจนผิดรูปเรียกกันว่า "เท้าดอกบัวทองคำ”คือเท้าที่มีขนาดใหญ่ไม่เกินสามนิ้ว หากมีขนาดใหญ่กว่าสามนิ้วแต่ไม่เกินสี่นิ้วจะเรียกว่าเท้าดอกบัวเงิน ส่วนที่เกินสี่นิ้วขึ้นไปเรียกว่าดอกบัวเหล็ก 

ที่เรียกว่าดอกบัวเพราะดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิม จึงหมายถึงลักษณะของเท้าที่ประเสริฐ เทียบได้กับดอกบัว นอกจากนี้สัณฐานของเท้าที่ผ่านการรัดจะมีลักษณะคล้ายกับดอกบัวอีกด้วย 
         
ในขั้นตอนการรัดเท้าให้ได้ลักษณะเป็นเท้าดอกบัวทองคำนั้น ขั้นแรกหญิงสาวต้องล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อน จากนั้นถูด้วยสารส้ม แล้วค่อยพันเท้าด้วยผ้ารัดเท้าที่ทำจากผ้าไหม หรือผ้าฝ้าย เป็นชั้นๆจากส้นเท้าไล่ขึ้นไปจนถึงนิ้วเท้า โดยหักนิ้วเท้าทั้งสี่ให้ติดชิดกับฝ่าเท้าด้านใน แล้วพันจนแน่น ผ้าที่ใช้รัดเท้าปกติกว้างประมาณ 3 นิ้ว - 3.5 นิ้ว แคบสุดไม่ต่ำกว่า 2.5 นิ้ว และยาว 7-10 ฟุต   
         
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของประเพณีการรัดเท้าในจีนที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายเกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิหลี่อี้ว์ หรือหลี่โฮ่วจู่ แห่งราชวงศ์ถังใต้ ในยุค 5 ราชวงศ์ (พ.ศ. 1466-1479)  โดยอ้างกันว่า นางกำนัลคนหนึ่งของจักรพรรดิหลี่อี้ว์ ชื่อ เหย่าเหนียง ต้องการทำให้จักรพรรดิพอพระทัย จึงใช้ผ้าที่ทำจากแพรไหมสวยงามรัดที่เท้าจนเรียวเล็กราวพระจันทร์เสี้ยว ขณะที่ร่ายรำต่อหน้าพระพักตร์  ทำให้จักรพรรดิหลี่อี้ว์ทรงพอพระทัยการแสดงครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง
   
          ต่อมาเหย่าเหนียงได้สั่งให้ทำรองเท้าที่ประดับประดาด้วยไข่มุก อัญมณีนานาชนิด แล้วให้นางสนมกำนัลสวมใส่หลังจากที่รัดเท้าแล้ว ก็ยังคงสร้างความพอพระทัยให้กับองค์จักรพรรดิเช่นเคย นับแต่นั้นแฟชั่นการรัดเท้าในหมู่นางในจึงค่อยๆ ขยายวงออกไปยังหมู่ลูกสาวของเหล่าขุนนางในสังคมชั้นสูง จนมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911-2187) ความนิยมในการรัดเท้าจึงค่อยแผ่กว้างไปในหมู่หญิงสาวสามัญชนทั่วประเทศ
   
        ล่วงมาถึงสมัยราชสำนักชิงจักรพรรดิเฉียนหลง (พ.ศ. 2279-2338) ได้ทรง ออกคำสั่งห้ามไม่ให้รัดเท้า ความคลั่งไคล้ในการรัดเท้าของหญิงสาวจึงค่อยลดลงไปแต่ก็ยังมีการลักลอบทำกันอยู่บ้าง จนเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้าสู่สังคมจีนอย่างแพร่หลายในยุคหลังสงครามฝิ่น ประเพณีการรัดเท้าจึงยกเลิกไปในที่สุด