ผ้าสะพัก ผ้าทรงสะพัก

17 / 03 / 2563 10:34

สตีชาวสยามในสมัยก่อนยังไม่ รู้จักการใช้ชุดชั้นใน การห่มสไบเพียงชิ้นเดียวอาจไม่มิดชิดเพียงพอเมื่อเวลาออกงานหรืออยู่ต่อหน้าธารกำนัล จึงมีการนำสไบอีกผืนหนึ่งมาห่มทับเรียกว่าการห่มตาด ส่วนผ้าที่นำมาห่มเรียกว่า ผ้าสะพัก โดยทั่วไปแล้วสตรีชาววัง หรือที่เรียกว่าฝ่ายในจะห่มสะพักซึ่งส่วนมากเป็นผ้าสะพักตาดทอง ส่วนราชวงศ์ชั้นสูงจะเรียกว่าผ้าทรงสะพัก  ดังนั้นการห่มผ้าสะพัก นอกจากเพื่อความมิดชิดสวยงามแล้วยังแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่อีกด้วย

ปัจจุบัน ผ้าทรงสะพักนั้น มี 3 แบบคือ
    1. ผ้าทรงสะพักมหาจักรี เป็นผ้าปักดิ้นลายทองทั้งองค์ มีตรามหาอุณาโลมอยู่เป็นหย่อม ปักลายเป็นดาราจักรี
    2. ทรงสะพักนพรัตน์ ปักดิ้นลายทองทั้งองค์มีดารานพรัตน์ปักประดับด้วยอัญมณี ๙  ชายผ้าห้อยด้วยดารานพรัตน์
    3. ทรงสะพักจุลจอมเกล้า ปักดิ้นลายทองเป็นเหมือนลายกนกทั้งองค์ และมีดาราปฐมจุลจอมเกล้าร่วมในผืนผ้าด้วย

ผ้าสะพักนี้ มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำขึ้นมาแทนการแพรห่มสีชมพูปักดิ้นเลื่อมลายทองตามชั้นของเครื่องราชฯ ที่พระราชทานแก่เจ้านายฝ่ายใน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ชั้น เช่น ชั้น ๑ เป็นแพรสีชมพู ปักดิ้นเลื่อมลายทอง ปักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “ จ จ จ “ ไขว้เป็นหย่อมกว้าง ๒ นิ้ว มีใบชัยพฤกษ์เป็นแย่ง ชายผ้าเป็นดาราปฐมจุลจอมเกล้า ซึ่งอักษร จ จ จ นี้ย่อมาจากคำว่า จุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้านั่นอง ผ้าแพรห่มนี้ยกเลิกเมื่อปีพ.ศ.2468

การห่มผ้าสะพัก จึงเป็นรูปแบบการแต่งกายที่สะท้อนให้เห็นความประณีตบรรจงของสตรีชาวสยามในอดีต โดยการห่มผ้าทับลงไปบนเสื้อ โดยผ้าจะไม่สัมผัสกับผิว โดยทั่วไปสตรีชาววัง หรือที่เรียกว่าฝ่ายในจะห่มสะพัก ก็ต่อเมื่อเข้าร่วมในงานพระราชพิธีที่มีการแต่งกายเต็มยศเท่านั้น