เมื่อเทพเจ้าซุสได้กลับสู่อิตาลี

17 / 03 / 2563 10:54

การส่งคืนประติมากรรม “Statue of Zeus Enthroned” อนุสาวรีย์เทวรูปหินอ่อนขนาดเล็ก อายุประมาณ 100 ปีก่อนคริสตกาล จากพิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เก็ตตี้ ในเมืองมาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาให้แก่ประเทศอิตาลี ทำให้เรื่องราวของเทพเจ้าซุสและเทวรูปซูสที่โอลิมเปีย  “Statue of Zeus at Olympia” เทวรูปไม้ประดับของคำขนาดใหญ่ถูกพูดถึงอีกครั้ง

ประติมากรรม “Statue of Zeus Enthroned” เป็นอนุสาวรีย์เทวรูปหินอ่อนขนาดเล็ก อายุประมาณ 100 ปีก่อนคริสตกาล เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าซุสนั่งอยู่บนบัลลังก์ มีความสูง 29 นิ้ว ไม่ปรากฏว่าเป็นผีมือของประติมากรรมคนใดได้แต่เพียงสันนิษฐานว่าเดิมนั้นอาจตั้งไว้เพื่อบูชาในคฤหาสน์ที่มั่งคั่งของชาวกรีกหรือโรมันโบราณ

เทวรูปหินอ่อนมหาเทพซุสมีต้นแบบมาจากเทวรูปซูสที่โอลิมเปีย ชื่อ “Statue of Zeus at Olympia” เป็นฝีมือของไฟดิแอส (Pheidias)ประติมากรชาวกรีก สร้างจากไม้ ประดับด้วยทองคำและงาช้าง ลักษณะประทับนั่งอยู่บนฐานกว้าง 10.30 เมตร ตัวเทวรูปสูงประมาณ 12 เมตร พระหัตถ์ซ้ายถือคทา พระหัตถ์ขวารองรับไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะ มีเครื่องประดับที่ทำจากทองคำล้วน สร้างในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช เทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารซูส ที่โอลิมเปีย ประเทศกรีซ

เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อปี ค.ศ. 475 วิหารนี้ถูกไฟไหม้ไม่มีชิ้นส่วนใดๆของเทวรูปหลงเหลืออยู่เลยเหลือเพียงซากวิหารที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซเท่านั้น แม้ว่าจะเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่เทวรูปซูสที่โอลิมเปีย (Statue of Zeus at Olympia) ก็ยังถูกยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่ควรค่าแก่การเที่ยวชมอยู่ 

ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลใดๆบ่งบอกว่าทำไมประติมากรรมรูปแบบกรีกชิ้นนี้จึงถูกส่งคืนประเทศอิตาลีที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตามการส่งกลับคืนประติมากรรม “Statue of Zeus Enthroned” จากสหรัฐอเมริกากลับสู่อิตาลีในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อภารกิจทางวัฒนธรรมที่ดี และกรอบความเข้าใจระหว่างทั้งสองประเทศ ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งการส่งคืนแหล่งกำเนิดของชิ้นงานต่างๆน่าจะทำให้การศึกษาทางประวัติศาสตร์ได้ข้อมูลใหม่ๆที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน เจ้าของชื่อ เจ. พอล เกตตี้ (J. Paul Getty) เศรษฐีน้ำมันที่ชื่นชอบงานศิลปะ จึงได้เก็บสะสมผลงานศิลปะดีๆ ไว้มากมาย ต่อมาจึงสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์และเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี