เกลือสินเธาว์ ทองคำสีขาว

24 / 03 / 2563 16:19

“ทองคำ” ได้ชื่อว่าเป็นโลหะทีมีค่าเป็นสัญลักษณ์ของความความมั่ง รุ่งเรื่อง เป็นทรัพย์สินที่มั่นคงปลอดภัยและเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ  นอกจากแร่ธาตุทองคำแล้ว พืชหลายชนิดก็ได้รับการยกย่องให้เป็น ทองคำสีเขียว ด้วยมีมูลค่าดังทองคำ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับหลายๆประเทศเช่น ใบยาสูบ และสาหร่ายทะเล เป็นต้น  นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ยุคโบราณ ยังมีวัตถุอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ทองคำสีขาว” เพราะมีทั้งคุณค่าและมูลค่าในกระบวนการแลกเปลี่ยนดุจทองคำนั่นก็คือ เกลือสินเธาว์ นั่นเอง 

ตามประวัติศาสตร์เกลือคือสัญลักษณ์ของอำนาจ มีคำกล่าวว่า ใครก็ตามที่ครอบครองแผ่นดินที่มีเกลือได้ นั่นหมายถึง "อำนาจ" ที่พวกเขาจะได้รับ ในประเทศไทยมีแหล่งเกลือสินเธาว์ที่สำคัญ 2 แหล่งใหญ่ๆคือ แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ภูเขาเพียงแห่งเดียวของไทยที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และแอ่งเกลือที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่กระจายตัวอยู่ในหลายๆ จังหวัด เช่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เป็นต้น เราเรียกแหล่งเกลือสินเธาว์หรือเกลือหิน (Rock Salt) นี้ว่า“โดมเกลือ”ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและนำความเจริญมายังดินแดนนี้มาช้าจนได้ชื่อว่าเป็นทองคำสีขาวของดินแดนอีสาน

เกลือสินเธาว์ หมายถึง เกลือที่ได้จากดินเค็ม โดยนำเอาน้ำเกลือจากการละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดินมาต้มเคี่ยวจนได้เกลือเนื้อละเอียดสีขาว ในภาคอีสานมีชุมชนที่ผลิตเกลือในระดับอุตสาหกรรม มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณบ่อพันขัน เขตทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณลุ่มน้ำสงครามแอ่งสกลนคร โดยหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในหน้าแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ตามท้องนาจะมีดินเอียด หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า ขี้ทา บนผิวดินให้เห็นเป็นสีขาวหรือสีเทา ชาวบ้านลงมือขูดดินเอียดเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการต้มเกลือ ก่อนต้มเกลือชาวบ้านจะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่ เพื่อเป็นสิริมงคลขอให้การต้มเกลือไม่มีอุปสรรค และให้ได้ผลผลิตมากตามต้องการ จากนั้นจึงเริ่มการต้มเกลือ

ปัจจุบันในภาคอีสานมีการผลิตเกลืออยู่ 3 รูปแบบ คือ
    1. การผลิตเกลือแบบดั้งเดิม นิยมทำกันทั่วไปบริเวณจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตเกลือลักษณะนี้เริ่มลดจำนวนลง เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่เปลี่ยนไป มีการใช้สารเคมีในการเกษตรมากขึ้นทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในดินทำให้ไม่สามารถทำเกลือได้
    2. การผลิตเกลือโดยวิธีสูบน้ำเกลือจากใต้ดินขึ้นมาเคี่ยวหุง ชุมชนที่ผลิตเกลือลักษณะนี้คือ บ่อเกลือหัวแฮด บ้านท่าสะอาด ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
    3. การผลิตเกลือด้วยวิธีสูบน้ำเค็มจากใต้ดินขึ้นมาตากแดด ที่เรียกว่า นาเกลือ อยู่ที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และอุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 

กองเศรษฐกิจธรณีวิทยา ประมาณการว่าในพื้นที่ภาคอีสานน่าจะมีปริมาณเกลือสำรองราว 18 ล้านล้านตัน ซึ่งนับเป็นแหล่งเกลือสำรองที่มีปริมาณมากมายมหาศาล ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ไม่น้อย