ไม้ชัยพฤกษ์ลงรักปิดทอง เสาหลักเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

11 / 05 / 2563 13:32

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ท่านทรงสั่งให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตกมาฝั่งตะวันออก เพื่อสถาปนาเป็นเมืองหลวงใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ทำพิธียกเสาหลักเมืองสถาปนาพระนครใหม่ขึ้นตามโบราณราชประเพณีที่การสร้างเมืองสำคัญจำเป็นต้องมีการยกหลักเมือง

เสาหลักเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทำจากไม้ชัยพฤกษ์ ประกอบด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 ซ. สูง 27 ซม. และกำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 10 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ภายในมีช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง และโปรดเกล้าฯให้ทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325

ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์พบว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่อีก 1 ต้น เพื่อแก้เคล็ด พร้อมบรรจุดวงชะตาเมืองขึ้นมาใหม่ ให้ต้องตามดวงพระราชสมภพเสาหลักเมืองใหม่นี้  มีแกนเป็นไม้สัก และประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ส่วนยอดเป็นทรงมัณฑ์ โดยทำพิธียกเสาหลักเมืองใหม่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395

ปัจจุบันเสาหลักเมืองประดิษฐานอยู่ในศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร รวมกับพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลองซึ่งเป็นเทพารักษ์สำคัญ 5 องค์ที่ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาชน ทำให้ศาลหลักเมืองกลายเป็นที่ชุมนุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งทางใจของคนไทยทั่วไป

เสาหลักเมือง หมายถึง เสาที่สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง มักทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์  เสาหลักเมืองถือเป็นหัวใจของเมือง เป็นที่สถิตของเทพยดาผู้ปกปักพิทักษ์บ้านเมือง มีธรรมเนียมว่าก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่ที่เป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

ส่วนคำว่า ศาลหลักเมือง หมายถึง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองและเป็นที่สถิตของเทพยดาผู้พิทักษ์เมืองซึ่งเรียกว่าพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี