ประตูเงิน ประตูทอง

11 / 05 / 2563 13:36

ในประเพณีการแต่งงานของคนไทย นอกจากสินสอดทองหมั้น พิธีสงฆ์ การหลั่งน้ำสังข์แล้ว ลำดับพิธีสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ ขบวนขันหมาก ซึ่งในการแห่ขันหมากมาบ้านเจ้าสาวนั้นขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวจะต้องผ่านการกั้นประตูเงินประตูทอง ของฝ่ายเจ้าสาวเสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อนเจ้าสาวมายืนกั้นประตูมากบ้างน้อยบาง ทำให้เกิดความสงสัยว่าประเพณีการกั้นประตูเงินประตูทองมีเพื่ออะไร และในสมัยโบราณมีการกั้นมากน้อยแค่ไหน

ตามประเพณีดั้งเดิมขอไทยเราเมื่อมีงานแต่งงานมักจะนิยมกั้นประตู 3 ประตู ได้แก่ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงเรือนเจ้าสาว ก่อนที่จะได้พบปะกับคนรักก็จะต้องผ่าน 3 ประตูนี้เสียก่อน แต่จะผ่านแต่ละประตูได้ก็จะต้องมีซองเงินเล็กๆ น้อยๆ ให้คนกั้นประตู ซึ่งเขาเรียกซองพวกนี้ว่า “ของแถมพก” โดยผู้ที่ให้ซองนี้ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าบ่าว บางครั้งก็มีเถ้าแก่และเพื่อนเจ้าบ่าวช่วยกันหยอกล้อและต่อรองขอผ่านประตูเข้าไปหาเจ้าสาว

ประตูแรกที่เจ้าบ่าวจะต้องเจอก็คือ “ประตูชัย” โดยผู้กั้นประตูจะถือชายผ้าคนละข้าง เรียกกันว่า “การปิดประตูขั้นหมาก” จากนั้นก็จะมีการต่อรองเกิดขึ้นตามแต่บรรยากาศจะพาไป สุดท้ายก่อนจะผ่านประตูเข้าไป ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องให้ซองเงินแก่ผู้กัน เรียกว่า “ของแถมพกอย่างตรี”
ประตูที่สองได้แก่ “ประตูเงิน” ผู้กั้นประตูจะถือชายผ้าแพรคนละข้าง หรือเป็นผ้าที่มีเนื้อดีกว่าผ้าที่ใช้กั้นประตูชัย มีการต่อรองขอผ่านประตูเช่นเดียวกับประตูชัย แต่ซองเงินที่ให้จะต้องมีค่าสูงกว่า เรียกว่า “ของแถมพกอย่างโท”

ประตูสุดท้ายเป็น “ประตูทอง” ผู้กั้นจะถือชายผ้าแพรอย่างดี หรือถ้าเป็นบ้านที่มีฐานะดีก็จะใช้สร้อยทองสำหรับกั้นประตู และเช่นเดียวกันกับสองประตูที่ผ่านมาคือ จะต้องมีการหยอกล้อ ต่อรองเพื่อขอให้เจ้าบ่าวผ่านประตูไปรับเจ้าสาว แต่อาจจะผ่านยากสักหน่อย และอาจต้องมีเงินในซองมากกว่าสองประตูแรกเรียกว่า “ของแถมพกอย่างเอก”

ถึงแม้ว่าประเพณีดั้งเดิมของไทยจะมีเพียงแค่ 3 ประตู และวัสดุที่นำมาใช้กั้นก็เป็นเพียงแค่ผ้าแพรเท่านั้น ยกเว้นประตูทองที่อาจใช้สร้อยทองกั้น แต่ในปัจจุบันงานแต่งหลายงานก็ประยุกต์ใช้ทั้งกระดาษ ผ้า หรือดอกไม้นำมาตัดแต่งร้อยเรียงจนสวยงามแล้วนำมากั้นประตู ที่สำคัญมีมากมายหลายประตูจนฝ่ายเจ้าบ่าวแจกซองจนเหงื่อตกเลยทีเดียว
ข้อมูล : แพรว