เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์และราชวงศ์

30 / 06 / 2563 16:31

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ได้รับการยกย่องเสมือนเป็นสมมติเทพ ดังนั้น กษัตริย์ พระมเหสี และพระราชวงศ์ จึงต้องมีเครื่องประดับ ที่ดูสง่างาม โดยเฉพาะในเวลาที่มีพระราชพิธีสำคัญหรือเวลาเสด็จออกว่าราชการ โดยเครื่องประดับต่างๆ มักสร้างขึ้นด้วยอัญมณีมีค่าและทองคำ  โดยรูปแบบได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เปอร์เซีย และชาวตะวันตก มีการนำวัสดุและวิธีการทำเครื่องประดับของชาวต่างชาติ เข้ามาผสมผสานกับการทำเครื่องประดับของไทย ให้แปลกใหม่ออกไปกว่าเดิม

เครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ มเหสี พระราชวงศ์ ที่ระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาล ที่สำคัญมีดังนี้
๑. มงกุฎ และชฎา ราชาศัพท์เรียกว่า "พระมงกุฎ" และ "พระชฎา" เป็นเครื่องประดับประเภทศิรา
ภรณ์ ใช้สำหรับกษัตริย์และมเหสี หากมียอดแหลมตรงขึ้นไป เรียกว่า "มงกุฎ" หากมียอดหลายยอดปัดไปทางด้านหลัง โดยแยกเป็นหาง ไหลออกไปหลายหาง เรียกว่า "ชฎา"
๒. เทริด (อ่านว่า เซิด) เป็นศิราภรณ์สำหรับกษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ และเทวรูป มีรูปเป็นมงกุฎทรงเตี้ย
๓. เกี้ยว ราชาศัพท์เรียกว่า "พระเกี้ยว" มีลักษณะเป็นวงคล้ายกับพวงมาลัย ใช้สำหรับรัดผมหรือรัดจุก
๔. กุณฑล ราชาศัพท์เรียกว่า "พระกุณฑล" คือ ตุ้มหู หรือต่างหู
๕. สังวาล ราชาศัพท์เรียกว่า "พระสังวาล" หรือ "สร้อยเฉวียงพระองค์" เป็นสร้อยที่คล้องลงมาจากบ่าทั้ง ๒ ข้าง
๕.สร้อยคอ ราชาศัพท์เรียกว่า "สร้อยพระศอ" เป็นสร้อยสวมไว้ที่คอ
๖. กำไลต้นแขน ราชาศัพท์เรียกว่า "พระพาหุรัด" หรือ "พาหุรัด" เป็นกำไลรัดที่ต้นแขน
๗. กำไลข้อมือ ราชาศัพท์เรียกว่า "ทองพระกร" หรือ "ทองกร" เป็นกำไลสวมที่ข้อมือ
๘. กำไลข้อเท้า ราชาศัพท์เรียกว่า "ทองพระบาท" เป็นกำไลสวมที่ข้อเท้า นิยมใส่เฉพาะสตรี
๙.แหวน ราชาศัพท์เรียกว่า "พระธำมรงค์" หรือ "ธำมรงค์" เป็นแหวนสวมที่นิ้วมือ   

วัฒนธรรมการใช้เครื่องประดับยังสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๓  และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น และมีการใช้เครื่องประดับที่เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบ ในราชการ หรือส่วนพระองค์ รวมทั้งพระราชทานให้แก่ประมุขของรัฐต่างประเทศ ที่มีสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศไทยแทนเครื่องประดับตามกฎมณเฑียรบาลในสมัยกรุงศรีอยุธยา