ทองบางสะพาน คุณค่ามากกว่าทองคำ

30 / 06 / 2563 16:32

แหล่งแร่ทองคำที่มีชื่อเสียง และรู้จักกันดีในประเทศไทย มีด้วยกัน ๓ แหล่ง ได้แก่แหล่งแร่ทองคำกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี  แหล่งแร่ทองคำสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และแหล่งแร่ทองคำบางสะพาน จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ฉายาว่าเป็น “ทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า” ที่เชื่อกันว่าป้องกันภยันตรายและภูตผีปีศาจได้

“ทองบางสะพาน” หรือ “ทองบางตะพาน” มีชื่อเสียงและเป็นที่กล่าวขานว่าทองคำจากแหล่งบางสะพานนี้ “เป็นทองคำเนื้อดีที่สุดของเมืองไทยและดีที่สุดในโลก” โดยสามารถร่อนหาแร่ทองคำได้โดยไม่ต้องถลุง  มีสีเหลือง สุกปลั่งและเนื้ออ่อน เป็นทองร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกว่า “ทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า”  ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการขุดและร่อนทองที่บางสะพานเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด แต่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ในปี พ.ศ. ๒๒๘๙ สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าเมืองกุยได้ทองคำที่ร่อนหาได้ในพื้นที่หนัก ๓ ตำลึง ไปถวายแด่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากนั้นพระองค์จึงเกณฑ์ไพร่จำนวน ๒,๐๐๐ คน ไปร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำ ๙๐ ชั่งเศษ เป็นน้ำหนัก ๕๔ กิโลกรัม หรือคิดเป็นน้ำหนัก ๓,๖๐๐ บาท และได้นำทองที่ร่อนได้ทั้งหมดไปหุ้มยอดมณฑป รอยพระพุทธบาทสระบุรี แต่น่าเสียดายที่เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๑๐)ยอดมณฑปนี้ถูกโจรจีนเผาหลอมทองเอาไปทั้งหมด

อำเภอบางสะพานเดิมชื่อ เมืองกำเนิดนพคุณ ตัวเมืองตั้งอยู่ที่ท่ามะนาว ฝั่งขวาของลำน้ำแม่รำพึง ต่อมาย้ายมาตั้งที่ท่ากะหลอ ปัจจุบันเรียกว่าบ้านหลักเมือง อยู่ริมฝั่งขวาลำน้ำบางสะพาน ซึ่งยังมีเสาหินหลักเมืองเป็นหลักฐานปรากฏอยู่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รับซื้อทองบางสะพานที่ชาวบ้านร่อนได้ในคลองทองพื้นที่ ต.ร่อนทอง แล้วนำมาผลิตเป็นล็อกเก็ตขนาดเล็กภายในบรรจุทองบางสะพานเพื่อจำหน่าย กำลังเป็นที่นิยมถึงขนาดต้องมีการสั่งจองล่วงหน้าเพราะเชื่อว่าทองบางสะพานมีพุทธคุณช่วยให้การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัยและเป็นของหายาก โดยจะมีการออกใบรับประกันจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนว่า เนื้อทองในล็อกเก็ตเป็นทองบางสะพานแท้ที่ได้จากการร่อนในคลองทอง ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นจริง

ทั้งนี้"ทองนพคุณหรือทองเนื้อเก้า” ในหนังสือประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ อธิบายความไว้ว่า ทองคำที่ซื้อขายกันนั้น เรียกตามเนื้อและตามราคา เช่น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๔ บาท เรียกว่า เนื้อสี่ ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๕ บาท เรียกว่า เนื้อห้า ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๖ บาท เรียกว่า เนื้อหก ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๗ บาทเรียกว่า เนื้อเจ็ด ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๘ บาทเรียกว่า เนื้อแปด ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๘ บาท ๒ สลึง เรียกว่า ทองเนื้อแปดสองขา ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๙ บาท เรียกว่า เรียกว่าทองเนื้อเก้า หรือ ทองนพคุณเก้าน้ำ เรียกสั้น ๆ ว่า ทองนพคุณ ทองธรรมชาติ ทองเนื้อแท้ หรือ ทองชมพูนุท ก็เรียก.