
คำสำคัญที่พบบ่อยในข่าวสารทองคำ
30 / 06 / 2563 16:38
ในข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการซื้อขายทองคำ มักพบคำย่อ หรือคำเรียกหน่วยงานต่างๆที่บางครั้งเราอาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงหน่วยงานใดหรือมีความหมายว่าอย่างไร บทความนี้จึงขอนำเสนอคำที่พบเห็นได้บ่อยๆตามบทความหรือข่าวสารต่างๆเพื่อความเข้าใจในเนื้อหาของข่าวสารนั้นๆมากยิ่งขึ้น ได้แก่
1.SPDR หรือ SPDR Gold Trust เป็นชื่อเรียกกองทุนเปิดดัชนีที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (Exchange Traded Fund : ETF) เป็นกองทุนที่ลงทุนในทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนของกองทุนหลังหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดการ ให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคำในตลาดลอนดอน คือ London Gold PM Fix Price มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงโดยไม่มีการใช้ตราสารอนุพันธ์หรือมีการให้ยืมทองคำแท่งกับผู้ลงทุน SPDR Gold Trust มีผู้เก็บรักษาทองคำแท่งให้ ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ สหรัฐอเมริกา (HSBC Bank USA, N.A.) กองทุน SPDR Gold Trust จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 4 แห่ง ได้แก่ นิวยอร์ก สิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น กองทุน Feeder Fund หลายกองทุนในประเทศต่างๆ ก็มีนโยบายลงทุนใน SPDR Gold Trust อีกทีหนึ่ง ซึ่งรวบรวมคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนจากนักลงทุนรายย่อย หรือสถาบันในประเทศนั้นๆ มาอีกทอดหนึ่ง ระดับการถือครองทองคำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของ SPDR Gold Trust จึงเป็นตัวสะท้อนมุมมองต่อทองคำของนักลงทุนจากทั่วโลก
2.FED (Federal Reserve Bank) ธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งนายเจอโรม โพเวลล์ เป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่ นโยบายทางการเงินและภาษีของสหรัฐฯ จึงมีผลอย่างมากต่อตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้นเราจึงมักพบชื่อของนายเจอโรม โพเวลล์ อยู่บ่อยครั้งในข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน รวมถึงทองคำด้วย
3.FOMC (The Federal Open Market Committee) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) มีหน้าที่ในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง เช่น นโยบายดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึง ภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ว่ามีความแข็งแกร่งหรืออ่อนแอมากน้อยเพียงใด หรือแม้กระทั่งสะท้อนภาวะเงินเฟ้อในช่วงนั้นๆ FOMC จะมีการประชุมทุกๆ 6 สัปดาห์หรือปีละ 8 ครั้ง
4.ECB (European Central Bank) ธนาคารกลางแห่งยุโรป มีบทบาทหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของราคาค่าเงินยูโร และ ดำเนินนโยบายการเงินที่ที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน ของกลุ่มประเทศยูโรโซน ปัจจุบันมีนางคริสตีน ลาการ์ด เป็นผู้ว่าการ
5.BOE (Bank of England) ธนาคารกลางอังกฤษ ถือเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีความสำคัญต่อทิศทางและนโยบายของเศรษฐกิจโลกประเทศหนึ่ง มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลและปราศจากอิทธิพลทางการเมือง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของอังกฤษปัจจุบันมีนายแอนดรูว์ เบลลีย์ เป็นผู้ว่าการฯ
6.IMF (International Monetary Fund) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ให้ประเทศต่างๆ กู้ยืมเงิน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวและดุลยภาพของการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีนางคริสตาลินา จอร์เจียวาเป็นผู้อำนวยการผู้อำนวยการกองทุน